นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ได้รายงานให้กับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบถึงกรณีระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อไม่นานมานี้ โดยกรณีการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น กระทรวง พม. ยืนยันว่า ทุกคนที่ได้รับเบี้ยยังชีพยังได้รับเหมือนเดิมโดยไม่สะดุด
ส่วนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ฉบับใหม่ นั้น ขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะไปพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติให้ชัดอีกครั้ง โดยเฉพาะกรณีการกำหนดว่า ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพว่าจะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสิน เป็นแนวทางเลือกต่าง ๆ ซึ่งเป็นไปตามมารยาทว่าจะต้องให้รัฐบาลใหม่พิจารณา
นายจุติ กล่าวว่า ตามหลักการจ่ายเบี้ยยังชีพต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงทุก ๆ กลุ่ม ทั้ง เด็กแรกเกิด 21 ล้านคน คนพิการ 3 ล้านคน และผู้สูงอายุ อีก 11 ล้านคน ซึ่งใช้เงินงบประมาณ 89,000 ล้านบาท โดยวงเงินงบประมาณสำหรับการดูแลส่วนนี้รัฐบาลได้กันเงินเอาไว้แล้ว 1.1 แสนล้านบาท แม้จะสิ้นสุดเดือนกันยายน 2566 เพราะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
“ตอนนี้จำนวนผู้สูงอายุที่ยากจนจริงมีประมาณ 4 ล้านคน ก็ต้องถามว่าคนที่เป็นรัฐบาลเมื่อมีงบประมานที่จำกัด จะเอาเงินไปช่วยคนที่จนสุดของประเทศก่อนหรือไม่ หากรัฐบาลใหม่มาบอกว่าพร้อมที่จะให้เบี้ยยังชีพเดือนละ 3,000 บาท ก็ต้องไปเก็บภาษีมาให้ได้ปีละ 7.2 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันนี้กระทรวง พม. ทั้งกระทรวงได้รับงบประมาณอยู่ปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท ดังนั้นต้องไปหางบประมาณมาอีกถึง 9 เท่า”
ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ของผู้มีรายได้น้อย จะใช้ตามเส้นแบ่งความยากจนมาวัดหรือไม่นั้น มองว่า ต้องกลับดูที่รัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งมีการระบุถึงเกณฑ์ผู้ที่มีรายได้น้อยว่าเป็นอย่างไร โดยรายละเอียดทั้งหมด คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะไปดูความเหมาะสมอีกครั้งว่า จะให้แบบถ้วนหน้า หรือใช้เกณฑ์ของเส้นความยากจนมาวัด
“สิ่งที่นักการเมืองทุกคนไม่เคยพูดให้ประชาชนรับทราบ ว่า ประเทศที่เขาเจริญแล้วที่เราทำตามเขา เขามีการพิสูจน์สิทธิ์ เช่น ออสเตรเลีย เยอรมัน อังกฤษ สหรัฐฯ มีการพิสูจน์สิทธิ์ทิ้งสิ้น โดยวัดว่าลำบากจริง รายได้ไม่พอจริง ก็ควรไปช่วยเหลือ แต่ถ้าบอกให้แบบถ้วนหน้า ก็ได้ถ้ามีเงิน คนเป็นรัฐบาลต้องดูให้ทั่วโดยขอให้คิดถึงความเป็นมนุษย์อย่าไปคิดถึงคะแนนเสียง”
นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า รมว.กระทรวง พม. ชี้แจงในที่ประชุมครม. ว่า คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงของรัฐบาลใหม่ ต้องมาพิจารณานิยามของผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพอีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ โดยจะมีการกำหนดเกณฑ์ให้ชัดเจนมากขึ้น แต่ในรัฐบาลปัจจุบันยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดอะไร
“รมว.กระทรวง พม. แจ้งในที่ประชุมครม.ว่า ถ้าการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแบบเดิมอยู่ ในปี 2568 ภาระงบประมาณเฉพาะเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึงแสนล้านบาท รวมทั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รมว.กระทรวง พม. ระบุว่า กรณีดังกล่าวรัฐบาลใหม่จะต้องไปพิจารณา”