“บิ๊กป้อม” สั่งรับมือ "เอลนีโญ" เตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำ

16 ส.ค. 2566 | 09:16 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2566 | 09:24 น.

รองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งทุกหน่วยงานเตรียมตัวรับมือสถานการณ์ “เอลนีโญ” รุนแรง เฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง อย่างรุนแรงได้

วันนี้ (16 สิงหาคม 2566) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) โดยที่ประชุม กอนช. ได้รับทราบสถานการณ์จากอิทธิพลของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และรัฐบาลได้มีความห่วงใย ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาเป็นอย่างมาก 

ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่ และแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำจำกัดโดยเฉพาะ น้ำอุปโภคบริโภค แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ จึงยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้ง อย่างรุนแรงได้ 

ขณะเดียวกันปรากฏการณ์เอ็นโซ่ (ENSO)อยู่ในสภาวะเอลนีโญ และจะมีแนวโน้มที่มีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือน ตุลาคม -ธันวาคม 2566 ทำให้ประเทศไทยช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบ (ร่าง)มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์"เอลนีโญ" ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการที่สำคัญ ได้แก่

  • มาตรการที่ 1 การจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เกี่ยวกับการวางแผนการระบายน้ำ 
  • มาตรการที่ 2 ให้ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง (ตลอดช่วงฤดูฝน) และให้มีการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร 
  • มาตรการที่ 3 ให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (ตลอดช่วงฤดูฝน) ได้แก่การใช้น้ำภาคการเกษตร เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย  การปรับปรุงระบบการให้น้ำพืช และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ 

รวมถึงการประหยัดน้ำของทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งต่างๆ และการลดการสูญเสียน้ำในระบบประปา และระบบชลประทาน ด้วย

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

“พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับ สทนช.และหน่วยงานต่างๆ เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ประชาชน รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง ทันเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมและจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอของประชาชนเป็นอันดับแรก น้ำที่เหลือจึงใช้เพื่อการอื่นๆ รวมถึงพื้นที่ EEC ที่มีความสำคัญด้วย”

ก่อนหน้านี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แจ้งถึงปัจจัยสำคัญที่จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นั่นคือ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร 

โดยจากข้อมูลขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสถึง 62% ที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ (EL Nino) ในช่วงเดือนพฤษภาคม จนถึงธันวาคม 2566 และต่อเนื่องไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 

สำหรับประเทศไทย คาดว่าจะทำให้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 คาดว่า จะอยู่ที่เฉลี่ย 133.6 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 154.8 มิลลิเมตร

เช่นเดียวกับอุณหภูมิเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 30.3 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 29.1 องศาเซลเซียส ภายใต้แนวโน้มความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศดังกล่าวจึงอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิต ภาคการเกษตร

โดยในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยเผชิญกับปัญหาภัยแล้งเนื่องจากสภาวะเอลนีโญที่รุนแรงในปี 2558 และปี 2562 ที่มีสภาวะเอลนีโญครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณฝนสะสมน้อยและอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติเกือบทุกเดือน

ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำใช้ได้จริงของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อ GDP ภาคเกษตรอย่างรุนแรงจนทำให้ในปี 2558 และ ปี 2562 GDP ภาคเกษตรลดลง 6.5% และ 1% ตามลำดับ