นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การบริหารเศรษฐกิจของประเทศในช่วงต่อจากนี้ หากรัฐบาลใหม่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาก็ควรกระตุ้นให้ตรงจุด เพราะปัญหาของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องของการบริโภคในประเทศ แต่เป็นเรื่องของการส่งออกและการลงทุน ดังนั้นถ้าหกจะแก้ปัญหาก็ต้องแก้ให้ตรงจุดเสียก่อน
“ถ้าจะมีมาตรการอะไรออกมา ก็อยากขอให้ดูข้อมูลและสถานการณ์ในช่วงนั้นด้วยว่า สถานการณ์ณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนั้นเป็นอย่างไร แล้วจะมีมาตรการอะไรช่วยพยุงหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไปให้ตรงจุด โดยเฉพาะด้นการส่งออก ถ้ากรส่งออกหดตัวลงมาก ก็ทำให้เกิดปัญหาพันเข้ามาในประเทศได้”
นายดนุชา กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของศักยภาพการเงินการคลังของประเทศในปัจจุบันด้วยว่า หากจะทำมาตรการอะไรแล้วจะต้องทำให้ตรงเป้า เพราะตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ว่าในช่วงถัดไปจะเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภายนอกมากน้อยขนาดไหน โดยเฉพาะประเทศจีน ก็ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง
“ที่ผ่านมาจะเห็นสัญญาณว่ามีปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงิน แต่สุดท้ายก็ยังประเมินข้อมูลเชิงลึกไม่ได้ว่า แท้จริงแล้วเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบลึกแค่ไหน เพราะข้อมูล ณ ตอนนี้ก็ยังค่อนข้างน่ากังวล และต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องว่าจะกระทบยังไง อีกทั้งปัญหาการเมืองระหว่างประเทศก็ยังคงดำรงอยู่ เช่นเดียวกับการกีดกันทางการค้า จึงต้องดูข้อมูล ณ ขณะนั้นก่อนว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ตรงเป้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร”
ส่วนกรณีพรรคการเมืองประกาศว่าจะผลักดันตัวเลขจีดีพีให้ขยายตัวถึง 5% นั้น เลขาธิการ สศช. ระบุว่า การเร่งให้ตัวเลขจีดีพีขยายตัวสูงในมุมหนึ่งก็อาจเป็นปัญหาในปีถัดไปได้ เพราะจะทำให้เกิดฐานสูง ซึ่งแนวทางการเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและเกิดความต่อเนื่อง อาจต้องแก้ให้ตรงจุด โดยเฉพาะการผลักดันมาตรการทางด้านการลงทุน ให้กระจายไปภาคการผลิตอุตสาหกรรม เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม สศช. ได้มีข้อเสนอถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศรวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการติดตามป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก
2. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ทั้ง การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังมีความล่าช้า การเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เตรียมความพร้อมของโครงการให้สามารถเบิกจ่ายได้โดยเร็ว และ การกำหนดเป้าหมายและติดตามผลการเบิกจ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย
3. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง ทั้ง การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ LTR เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพโดยเฉพาะกลุ่มพำนักระยะยาว การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองที่มีศักยภาพ และ การส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง
4. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ทั้ง การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ โดยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการผลิต การเพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายผลผลิตขั้นสุดท้ายมากขึ้น การทำมาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอากาศ และ การบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง
5. การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้ง การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก การเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า
การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ การป้องกันและแก้ไขปัญหากีดกันทางการค้าโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศคู่ค้าสำคัญ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก
6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ทั้ง การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563 - 2565 ให้เกิดการลงทุนจริง การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค และ การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้