วันที่ 21 สิงหาคม 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เตรียมแถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ประเทศไทย โดยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 อย่างเป็นทางการ
โดยต้องติดตามว่า สศช. จะมีการปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจในปี 2566 หรือไม่ หลังจากการแถลงตัวเลขในรอบที่ผ่านมา สศช. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.7 – 3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
รายงานข่าวจาก สศช. ระบุว่า สศช. ยังมองเรื่องของการเมืองในประเทศเป็นหนึ่งในข้อจำกัดและเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมาประเมินว่า ได้ติดตามบรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
โดยเงื่อนไขบรรยากาศทางการเมืองและทิศทางนโยบายภายหลังการเลือกตั้งยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงกระบวนการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และการอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ที่อาจมีความล่าช้ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยในกรณีฐานคาดว่าจะมีความล่าช้าประมาณ 2 - 4 เดือน
ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจไทยล่าสุด โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในแนวโน้มการฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปปรับตัวลดลงจากหมวดอาหารเป็นสำคัญ ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน
อย่างไรก็ดี ปัญหาด้านการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและการหดตัวของภาคการส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังคงสร้างแรงกดดันต่อการบริโภคของภาคประชาชน
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเฉพาะเดือนมิถุนายน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 2.2 ล้านคน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมรวม 12.9 ล้านคน
สอดคล้องกับข้อมูล สศค. ระบุ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมิถุนายน 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวมจำนวน 2.24ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 191.5% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ตามลำดับ
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ สะท้อนมุมมองต่อเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือ โดยระบุว่า ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ อีไอซีประเมินตัวเลขจีดีพีมีโอกาสขยายตัว 3.4% ถัดไปในไตรมาสที่ 3 คาดไว้ที่ 4.3% ส่วนไตรมาสสี่คาดว่าจะอยู่ที่ 4.9% และภาพรวมทั้งปีนี้คาดไว้ที่ 3.9%
ในแง่การเติบโตครึ่งปีหลังน่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก โดยเครื่องยนต์หลักในการเคลื่อนเศรษฐกิจยังคงให้น้ำหนักกับ ภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเข้ามาเที่ยวไทยตามคาดที่ประมาณไว้ 30 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มมีโอกาสจากนักนักท่องเที่ยวจีนที่คาดไว้ประมาณ 5 ล้านคน แต่ก็ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากการส่งออก สุดท้ายอาจจะปรับตัวเลขจีดีพีลงเล็กน้อย แต่ภาพรวมปีนี้ประเมินตัวเลขจีดีพีตั้งแต่ 3.2-3.9% ซึ่งเป็นการเติบโตกว่าปีที่แล้ว
“สิ่งย้ำมาหลายรอบ ในปีนี้และปีหน้า เป็นไปตามภาวะของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ว่าภาคการท่องเที่ยว การบริโภค แต่สิ่งที่ต้องกังวลใจสำหรับเมืองไทยคือ เรื่อง นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเกิดผู้ผลิตหน้าใหม่โดยกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเดิม ซึ่งไทยจะสร้างพันธมิตรหรือมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตได้อย่างไร ถ้าเราตกรถรอบนี้ รถคันใหม่อาจจะต้องใช้เวลาถึง 30 ปี”
ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยฐานเศรษฐกิจ ว่า ศูนย์วิจัยฯ คงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 2.7% แต่ยังกังวลนักท่องเที่ยวจีนมาน้อยกว่าคาดตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมให้หลุดจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ ซึ่งแนวโน้มตอนนี้ ทุกคนหวังว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทย ซึ่งความเป็นไปได้ที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะมากนั้นน่าจะน้อยลง เพราะเศรษฐกิจจีนยังต้องกระตุ้น
ส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลจะทันเดือนสิงหาคม หรือไม่ หากทันรัฐบาลใหม่ก็สามารถเดินหน้างบประมาณปี 2567 ซึ่งต้องเริ่มใช้เดือนตุลาคม อาจจะไม่แย่มาก และรัฐบาลอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ซึ่งจะเป็นผลบวกระยะสั้นกับเศรษฐกิจ
แต่ถ้าการจัดการรัฐบาลหากล่าช้าลากยาวยิ่งยืดงบประมาณและงบลงทุนที่จะกระตุ้นหรือดำเนินการไม่ได้ เบื้องต้นประเมินความท้าทายใน 3 เดือนข้างหน้า เรื่องเดียวคือ การจัดตั้งรัฐบาล เพราะอย่างน้อยหากมีรัฐบาลเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นกว่าการไม่มีรัฐบาล เนื่องจากจะส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณปี 2567 ไม่ทัน และหากมีรัฐบาลเร็ว จัดทำงบได้ทัน รัฐบาลใหม่ก็น่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาด้วย