ปี 67 ชงครม.ใหม่ ไฟเขียว 3 ต้นแบบพัฒนา TOD 1.9 พันไร่

25 ส.ค. 2566 | 06:33 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2566 | 06:37 น.

“สนข.” เดินหน้าชงคมนาคมเคาะแผนพัฒนา TOD 1.9 พันไร่ ภายในปีนี้ ปลุกต้นแบบ 3 จังหวัดเชื่อมขนส่งสาธารณะรอบสถานีรถไฟ ลุ้นครม.ไฟเขียว เตรียมโยนท้องถิ่น-เทศบาล จับมือเอกชนร่วมทุน PPP ปี 67

ที่ผ่านมา “สนข.” พยายามเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาเมืองโดยใช้ระบบขนส่งทางรางเป็นตัวชี้นำการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาให้ระบบรางเป็นการเดินทางหลักที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้สะดวก และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อผลักดันระบบขนส่งทางราง 

 

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ปัจจุบันสนข.ได้จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (ปี 2567-2582) เพื่อศึกษา TOD ทั้ง 177 แห่ง แล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณาได้ภายในปี 2567 หากครม.เห็นชอบแล้วจะสามารถดำเนินการในพื้นที่ได้ทันที 
 

“ขณะนี้เรามีการลงทุนก่อสร้างรถไฟค่อนข้างเยอะแล้ว ทำให้เราจะต้องรีบพัฒนาแผน TOD โดยปลัดกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สนข.เร่งรัดดำเนินการในเรื่องนี้”

 

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่ามีต้นแบบการพัฒนา TOD รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) จำนวน 3 แห่ง จาก 177 แห่ง ทั่วประเทศ ประกอบด้วย สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา จังหวัดชลบุรี เบื้องต้นสนข.ได้มีการหารือร่วมกับ สกพอ. และเทศบาลเมืองพัทยา แล้ว โดยสกพอ.มีความพร้อมที่จะช่วยเราขับเคลื่อนโครงการฯ ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการจัดทำผังเมืองใหม่ ขณะที่สถานีรถไฟความเร็วสูงขอนแก่น ขณะนี้ทางจังหวัดขอนแก่นอยากให้โครงการฯนี้เกิดขึ้น เพราะในจังหวัดขอนแก่นมีระบบขนส่งสาธารณะในเมืองที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงการได้ คาดว่าพื้นที่ 2 แห่ง จะเร่งดำเนินการได้ภายในปี 2567 
 

“ส่วนสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไรนั้นตอบยาก เนื่องจากในปัจจุบันยังติดปัญหาเรื่องมรดกโลก ทำให้มีความล่าช้า แต่สนข.ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนได้เห็นข้อดีและผลประโยชน์ของโครงการฯ”  

 

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ด้านรูปแบบการลงทุนพื้นที่ TOD ทั้ง 3 แห่งนั้น โดยผู้ที่จะรับผิดชอบในเรื่องนี้คือท้องถิ่นและเทศบาล อย่างพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา จังหวัดชลบุรี ทางเทศบาลมีความพร้อมดำเนินโครงการฯ โดยคาดว่าใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เนื่องจากการบริหารจัดการของเอกชนจะมีความคล่องตัวมากกว่า  ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณของภาครัฐด้วย 

 

ขณะเดียวกันสนข.ได้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) TOD แล้วเสร็จ เบื้องต้นสนข.จะต้องหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากการพัฒนา TOD ไม่ใช่หน่วยงานใดจะสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งจะมีการบูรณาการด้วย

   ปี 67 ชงครม.ใหม่ ไฟเขียว 3 ต้นแบบพัฒนา TOD 1.9 พันไร่

นายปัญญา  กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสนข.เคยหารือกับสศช.แล้ว โดยสศช.ให้ความเห็นว่า หากโครงการใดที่สามารถใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ได้ก็สามารถใช้กฎหมายดังกล่าวได้ แต่สนข.มองว่าการดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีกฎหมายหลายฉบับ หากใช้กฎหมายฉบับเดิมจะใช้ระยะเวลาดำเนินการนานหลายปี ทั้งนี้สนข.จะหารือกับสศช.อีกครั้งภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) TOD คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2566

 

“หากจะดำเนินการพัฒนาตามแผน TOD จะต้องดำเนินการให้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) TOD มีผลบังคับใช้ก่อนหรือไม่นั้น เรามองว่ามันไม่เกี่ยวกัน เพราะพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการขับเคลื่อนแผนฯ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยแผนพัฒนา TOD ทั้ง 177 แห่ง สามารถดำเนินการได้เลย”

 

ทั้งนี้ตามแผนการศึกษาฯ และระยะการพัฒนา TOD (ปี 2567-2582) แบ่งเป็น 4 ระยะ รวมทั้งหมด 177 แห่ง ประกอบด้วย   1.ระยะเร่งด่วน (ปี 2567-2568) จำนวน 29 แห่ง 2.ระยะสั้น (ปี 2569-2571) จำนวน 54 แห่ง 3.ระยะปานกลาง (ปี 2573-2577) จำนวน 54 แห่ง 4.ระยะยาว (ปี 2578-2582) จำนวน 40 แห่ง 

 

สำหรับแผนการศึกษา TOD ทั้ง 3 แห่ง รวมพื้นที่ 1,943 ไร่ ดังนี้ 1. สถานีรถไฟขอนแก่น พื้นที่ 837 ไร่ เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เป็นศูนย์ กลางเมืองขอนแก่นแห่งใหม่ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานมีการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ชุมชนเดิมและชุมชนใหม่ เพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ขณะที่สถานีรถไฟอยุธยา พื้นที่ 206 ไร่ เป็น TOD ศูนย์กลางเมืองภาคกลาง ตัวแทนกลุ่มแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ระหว่างความเป็นเมืองเก่ากับความทันสมัย เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่สถานีความเร็วสูงที่จะเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่เข้ากับพื้นที่ชุมชนเมืองเดิมด้วยสะพานทางเดินข้ามแม่น้ำ ท่าเรือข้ามฟาก และระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมพื้นที่สาธารณะภายในเมืองด้วยโครงข่ายพื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน ทางเท้า และทางยกระดับ รักษาสมดุลของการอนุรักษ์และพัฒนา 

 

สำหรับสถานีเมืองพัทยา พื้นที่ 900 ไร่ สามารถพัฒนาได้ 4 โซนหลัก คือ โซน 1 ย่านอาคารสำนักงานที่พร้อมรองรับทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตอย่างลงตัว เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งติดสถานีรถไฟ พื้นที่นี้จึงเหมาะพัฒนาแบบผสมผสาน  รองรับทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประชาชน โซนที่ 2 ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การพาณิชย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคล่องตัว โซนที่ 3 มหานครแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE City) ครบวงจร และโซนที่ 4 ชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่สบาย เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ด้วยความสะดวกสบาย