‘สนข.’กางแผนพัฒนา TOD 1.9 พันไร่ รุกไฮสปีด-ทางคู่

03 พ.ย. 2565 | 00:00 น.

“สนข.” เปิดแผนพัฒนา TOD พื้นที่ 1.9 พันไร่ บูมเส้นทางไฮสปีด- รถไฟทางคู่ เล็งชงคมนาคมเคาะภายในปีนี้ เล็งทบทวนร่างพ.ร.บ.ใหม่ หลังสศช.ตีกลับสั่งศึกษาใช้กฎหมาย เดิมให้รอบคอบ ลุ้นท้องถิ่นเปิดประมูล PPP ดึงเอกชนร่วมทุน

การขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง นอกจากเชื่อมการเดินทางระหว่างเมืองแล้ว ยังต้องใช้พื้นที่รอบสถานีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแผนพัฒนา พื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ต่อเรื่องนี้ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ที่ผ่านมาสนข.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการฯ ซึ่งใช้ระยะเวลาศึกษาราว 2 ปี ปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษาโครงการฯ เพื่อเสนอต่อสนข. หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ภายในปีนี้ และจะเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา ภายในต้นปี 2566

 

 

 

 

 “จากผลการศึกษาโครงการฯ จะดำเนินการจัดแผนพัฒนาระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว ซึ่งจะนำร่องพัฒนาโครงการ 3 จังหวัด ประกอบด้วย สถานีรถไฟอยุธยา, สถานีรถไฟขอนแก่น และสถานี รถไฟชลบุรี โดยสถานีที่นำร่องนั้นจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบในรูปแบบมิกซ์ยูสควบคู่การพัฒนารถไฟทางคู่และโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งสนข.พยายามให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถใช้ประโยชน์จากสถานีโดยรอบได้มากที่สุด ทั้งนี้สาเหตุที่สนข.เลือกพัฒนาทั้ง 3 จังหวัด เนื่องจากเป็นสถานีที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งเป็นประตูที่เชื่อมโยงสู่ภาคอีสานและภาคตะวันออก”

 

 

 

 หากสศช.พิจารณาเห็นชอบแล้วเสร็จ จะเสนอผู้ที่มีอำนาจหรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการฯ หรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสศช.เป็นผู้พิจารณาด้วยว่าจะให้สนข.เสนอต่อหน่วยงานใดเพื่ออนุมัติโครงการฯต่อไป ส่วนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) TOD นั้น ที่ผ่านมาสนข.ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เบื้องต้น ทางสศช.ให้ความคิดเห็นว่าหากมีกฎหมายเดิมที่สามารถบังคับใช้ร่วมกับโครงการฯดังกล่าวได้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) TOD เพิ่มเติม แต่ถ้าในกรณีที่กฎหมายเดิมไม่สามารถบังคับใช้ร่วมกับรายละเอียดของโครงการฯในบางประเด็นได้ก็ควรดำเนินการ

ขณะนี้สนข.อยู่ระหว่างเร่งศึกษาและทบทวนในเรื่องนี้ด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อสศช.พิจารณาพร้อมกับผลการศึกษาการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) TOD เกี่ยวข้องกับการกำหนดอำนาจหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการ รวมทั้งรายละเอียดวิธีการพัฒนาของโครงการฯ

 

 

 


นอกจากนี้รูปแบบการร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) เบื้องต้นจากผลการศึกษาสนข.จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ระยะเวลา 30 ปี โดยผู้ที่รับผิดชอบดูแลโครงการฯจะเป็นอำนาจของหน่วยงานในท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่กระทรวงคมนาคม ทั้งนี้หากหน่วยงานท้องถิ่นมีความสนใจจะดำเนินการโครงการฯในรูปแบบ PPP จะต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ด้วย

 

 


สำหรับแผนศึกษา TOD ทั้ง 3 แห่ง รวมพื้นที่ 1,943 ไร่ ดังนี้ 1. สถานีรถไฟขอนแก่น พื้นที่ 837 ไร่ เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เป็นศูนย์ กลางเมืองขอนแก่นแห่งใหม่ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานมีการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ชุมชนเดิมและชุมชนใหม่ เพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 

ทั้งนี้สถานีรถไฟขอนแก่น ได้แบ่งการพัฒนาตามแนวทางของ TOD ได้เป็น 8 โซน โซนที่ 1 ย่านสถานีรถไฟทางคู่และรถไฟความ เร็วสูง, ที่พักเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ด้านโซนที่ 2 ย่านพาณิชยกรรมและศูนย์กลาง TOD จุดเปลี่ยนถ่ายเชื่อมต่อการเดินทางหน้าสถานี เหมาะพัฒนาแบบผสมผสานเป็นอาคารศูนย์การค้า ฯลฯ โซนที่ 3 ย่านที่พักอาศัยและส่งเสริมอัตลักษณ์พื้นถิ่น เช่น คอนโดมิเนียมที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น ผสมผสานกับพื้นที่พาณิชยกรรมเดิม เชื่อมต่อกับส่วนสถานีรถไฟด้วยทางเดินเท้าทางจักรยาน ส่วนโซนที่ 4 ย่านประตูเมืองขอนแก่น-ศูนย์กลางธุรกิจ และ MICE ด้วยที่ตั้งที่มีศักยภาพเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ 2 สถานี และเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง เหมาะแก่การพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสานเป็นอาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม โรงแรมหรู อุตสาหกรรม MICE และที่พักอาศัยชั้นดี

 

‘สนข.’กางแผนพัฒนา TOD 1.9 พันไร่ รุกไฮสปีด-ทางคู่

 

ด้านโซนที่ 5 ย่านพัฒนานวัตกรรมและที่พักอาศัยคนรุ่นใหม่ ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรม กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเบา SME และโซนที่ 6 ศูนย์กลางพาณิชกรรมระดับภูมิภาค ศูนย์กลางพาณิชยกรรม ทั้งศูนย์การค้าระดับภูมิภาค ศูนย์ค้าปลีก ฯลฯ โซนที่ 7 ย่านการศึกษา-พักอาศัยและการพัฒนาแบบผสมผสาน เป็นที่ตั้งสถานศึกษาเดิมในพื้นที่ติดถนน พัฒนาแบบผสมผสานเป็นสำนักงาน พาณิชย กรรม และโซนที่ 8 ย่านชุมชนเมือง เน้นการพัฒนาเป็นที่พักอาศัย ที่มีคุณภาพของชุมชนเมืองและชุมชนเดิมในพื้นที่ ทั้งศูนย์การค้า ร้านค้าปลีก สำนักงานและโรงแรมที่พัก

 

 

 

2. สถานีรถไฟอยุธยา พื้นที่ 206 ไร่ เป็น TOD ศูนย์กลางเมืองภาคกลาง ตัวแทนกลุ่มแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ระหว่างความเป็นเมืองเก่ากับความทันสมัย เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่สถานีความเร็วสูงที่จะเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่เข้ากับพื้นที่ชุมชนเมืองเดิมด้วยสะพานทางเดินข้ามแม่นํ้า ท่าเรือข้ามฟาก และระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมพื้นที่สาธารณะภายในเมืองด้วยโครงข่ายพื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน ทางเท้า และทางยกระดับ รักษาสมดุลของการอนุรักษ์และพัฒนา 

 

 

 


นอกจากนี้ สถานีรถไฟ อยุธยาแบ่งพื้นที่ TOD เป็น 5 โซน โซนที่ 1 ย่านสถานีรถไฟทางคู่และสถานี รถไฟความเร็วสูง มีอาคารสถานี, อาคารสำนักงาน ที่พัก, เจ้าหน้าที่ โซนที่ 2 ย่านพาณิชยกรรมรองรับการค้าและบริการขนาดใหญ่ริมถนนโรจนะ เช่นศูนย์การค้าหรือศูนย์ค้าปลีก โรงแรม ศูนย์การ ประชุมสัมมนา และคอนโดมิเนียม ด้านโซนที่ 3 ย่านผสมผสานพาณิชยกรรมรองรับศูนย์กลางการค้าและบริการท่องเที่ยว (High Street Retail) และอพาร์ตเมนต์ให้เช่ารองรับนักท่องเที่ยว ส่วนโซนที่ 4 ย่านผสมผสานพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย และโซนที่ 5 ย่านที่พักอาศัยชั้นดี สำหรับผู้ที่ต้องการอยู่อาศัยในอยุธยาระยะยาว