นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของสำนักการโยธา ว่าคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตรายละเอียดงบประมาณของหน่วยงานในหลายประเด็น อาทิ แนวทางการแก้ปัญหาการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งต้องมีการดำเนินการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือการวิเคราะห์ผลกระทบจากโครงการหรือกิจการประเภทต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในหลายพื้นที่
“ส่วนโครงการก่อสร้างที่อยู่ระหว่างการร้องเรียนและเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบ ทั้งในเรื่องแนวเขตทางและแนวร่นไม่ได้ตามที่กำหนด ขอให้ออกหนังสือให้เจ้าของชะลอการก่อสร้างไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ดังเช่นที่เกิดกรณีในอาคารขนาดใหญ่ในกทม.หลายแห่ง การดำเนินการออกใบอนุญาต ต้องคิดให้รอบคอบว่าสามารถดำเนินการได้จริงหรือไม่ เพื่อไม่ให้กรุงเทพมหานครต้องถูกดำเนินคดีฟ้องร้องอีก”
นายสุทธิชัย กล่าวต่อว่า คณะกรรมการได้สอบถามสาเหตุความล่าช้าของโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานเขตลาดกระบังแห่งใหม่ โดยสำนักการโยธาได้ชี้แจงว่า เนื่องจากเนื้องานเดิมเป็นโครงสร้างใต้ดิน ซึ่งต้องใช้เวลาและรายละเอียดการดำเนินการมาก ทำให้งานล่าช้า แต่ขณะนี้งานโครงสร้างเรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะดำเนินการก่อสร้างในชั้นที่สูงขึ้นมา และคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนธ.ค.67
ขณะที่โครงการต่อเชื่อมถนนพุทธมณฑลสาย2 - ถนนพุทธมณฑล สาย3 งานล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากสถานการณ์โควิด และผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ ให้ข้อสังเกตว่าโครงการที่ได้ผู้รับจ้างเป็นกิจการร่วมค้าต้องเร่งรัดเนื้องานให้เป็นตามแผนงาน หากพบว่าล่าช้าต้องดำเนินการปรับ และหากโครงการส่งผลกระทบกับประชาชนต้องเร่งแก้ไขและเยียวยาความเดือดร้อนโดยเร็ว
ด้านโครงการก่อสร้างอาคารหอผู้ป่วยโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานครและโครงการก่อสร้างถานีดับเพลิงบางบอน มีการจัดสรรพื้นที่ไม่เหมาะสมไม่ตรงความต้องการของหน่วยงานผู้ปฏิบัติงาน คณะกรรมการวิสามัญฯ จึงตั้งขอสังเกตให้หน่วยงานที่ร้องขอให้สำนักการโยธาดำเนินการก่อสร้าง ควรรวบรวมความต้องการและหารือแบบร่วมกันให้รอบคอบ งานออกแบบเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านการแพทย์ที่ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงสะพานข้ามแยกต่างๆ ในกทม. ในเรื่องของความมั่นคงแข็งแรงและอายุการใช้งานของสะพาน ตามที่สำนักการโยธาชี้แจงผลการตรวจสอบและติดตั้งอุปกรณ์วัดน้ำหนักบนสะพานข้ามแยก และพบว่ามีรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินจากที่กำหนดฝ่าฝืนขึ้นใช้สะพานข้ามแยกต่างๆ ทำให้อายุการใช้งานของตัวโครงสร้างลดลงจากที่ควรจะเป็น
“ดังนั้นควรเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขัน ตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกให้เข้มงวด หากพบการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามมาตรการอย่างเด็ดขาด”