นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2566 ว่า ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญ จำนวน 17 ท่าน ศึกษาตรวจสอบโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หลังเกิดเหตุสะพานถล่มลาดกระบัง-อ่อนนุช โดยกำหนดระยะเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จ 90 วัน
จากการสอบถามพบว่าผู้รับเหมาขอเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างเพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้นซึ่งเป็นเหตุผลทางวิศวกรรม วิธีนี้เป็นวิธีการที่ใช้อยู่อย่างทั่วไป เนื่องจากเรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบเราต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร โดยหาด้วยความระมัดระวัง โดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางเพราะอาจมีผลทางคดี เรื่องรถเครน ผู้รับจ้างต้องดำเนินการเพราะคนขับรถเครนต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ
“ในส่วนของกทม.จะดูแลผู้ประสบภัยและดูแลการกู้ชีพ หากกทม.มีรถเครนเองต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการขับ อย่างไรก็ดีจะรับข้อสังเกตของส.ก.เกี่ยวกับการจัดหารถเครนต่อไป และเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายให้มากขึ้น ซึ่งยินดีรับข้อสังเกตของส.ก.ไปพิจารณาให้ถี่ถ้วนด้วย และการตั้งคณะกรรมการวิสามัญจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุอาจมีคำถามว่าทำไมล่าช้า ตามกระบวนการมีผู้ตรวจสอบอิสระจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) มาลงพื้นที่ในคืนนั้นเลยเพื่อประเมินสถานการณ์ และตรวจสอบความปลอดภัยในการเข้าพื้นที่ การเคลื่อนซากต่าง ๆ Launcher ที่ทำเลยเพราะผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นแล้วว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงต้องเคลื่อนออกเพื่อเปิดพื้นที่ให้ Investigator เข้าพื้นที่ได้ ซึ่งสาเหตุการเกิดเหตุขอให้รอ วสท. เป็นผู้ระบุ
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ด้านมาตรการการเยียวยาตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องระเบียบการจ่ายเงินสงเคราะห์ของกทม. จะมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายผู้เสียชีวิต ค่าจัดการศพ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ค่าปลอบขวัญ ค่าเสียหายสำหรับสถานประกอบการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีกองทุนสงเคราะห์ผู้ประสบภัย และตัวแทนบริษัทประกันภัยของผู้รับเหมาได้เริ่มให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าบ้านแล้ว
สำหรับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ระเบียบการจ่ายเงินสงเคราะห์ พบว่าเป็นจำนวนที่น้อยจริง ๆ และข้อบัญญัติยังใช้เป็นระยะเวลานานแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อบัญญัติและจะจัดส่งเพื่อให้สภาพิจารณาความเหมาะสมต่อไป สำหรับการลงทะเบียนผู้เสียหายนั้น ขณะนี้ได้พบผู้เสียหายทั้งหมดแล้ว ขณะนี้มีผู้จดแจ้งความเสียหายแล้ว 22 ราย ซึ่งเขตจะรับรองตามเงื่อนไข ในส่วนการเบิกจ่ายค่าเสียหายจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด สำหรับอัตราที่บริษัทจะจ่ายขณะนี้ทราบเพียงค่าเช่าบ้านหลังละ 8,000 บาท แต่จะติดตามรายละเอียดให้ครบถ้วนต่อไป
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ตนเป็นผู้ยื่นญัตติดังกล่าว ที่ผ่านมาสภาได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯหลายคณะ เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาหมักหมมมานาน คณะนี้จะศึกษาเชิงลึก วิเคราะห์ แยกแยะ ถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของกทม.
ทั้งนี้คณะกรรมการฯจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาเพื่อร่วมกันทำงาน ทั้งโครงการสะพานยกระดับถนนอ่อนนนุช-ลาดกระบัง และโครงการอื่น ๆ หลังเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในพื้นที่เขตลาดกระบัง เป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งในมีทั้งโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลบางนา วชิรพยาบาล โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ และโครงการของสำนักการระบายน้ำ โดยสามารถเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมให้ข้อมูล เพื่อให้ได้ผลการศึกษา เป็นการถอดบทเรียน เพื่อเป็นผลงานของสภากรุงเทพมหานครในการดูแลพี่น้องประชาชน
นายสุรจิตต์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค.66 ที่ผ่านมาได้เคยตั้งกระทู้ถามสดในเรื่องสะพานแห่งนี้มาแล้ว ในขณะนั้นผลงานติดลบกว่า 40% การทำงานในเวลากลางคืนไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สน.ในพื้นที่ไม่ทราบความคืบหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อสอบถามไปยังเขตลาดกระบังก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ เมื่อครั้งผู้ว่าฯมาสัญจรที่เขตและลงพื้นที่ได้กำชับทุกหน่วยงานดูแลปัญหาฝุ่นละออง การจราจรและปัญหาทั้งหมด
สิ่งที่ประชาชนฝากมาถาม คือ
1.ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งตรวจสอบเมกะโปรเจคต่าง ๆ โดยในพื้นที่ลาดกระบังมีทั้งโครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง โรงพยาบาลลาดกระบัง อาคารสำนักงานเขตลาดกระบังแห่งใหม่ ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งตรวจสอบอาคารเหล่านี้ และขอถามทางกทม.ว่าได้ทำ Root Cause Analysis หรือไม่ ทราบสาเหตุการถล่มของสะพานแล้วหรือยัง ทั้งนี้การเกิดเหตุแบบนี้ต้องปิดสถานที่ทั้งหมดและให้หน่วยงานกลางที่ไม่ขึ้นกับกทม.เข้ามาตรวจสอบ แต่ปัจจุบันพบว่าได้มีการตัดเหล็กออกเป็นชิ้นเพื่อเคลื่อนออกจากหน้างานแล้ว มีการเคลื่อนคอนกรีตเพื่อเปิดการจราจรในวันศุกร์นี้ (14 ก.ค.) นี้
2.คำถามเรื่องของการเร่งเยียวยาผู้ประสบเหตุ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ สอบถามว่าบริษัทนี้มีการทำประกันไว้หรือไม่ เนื่องจากหากต้องรอเงินช่วยเหลือจากภาครัฐต้องใช้เวลานานมาก
3.คำถามสุดท้าย กทม.มีการตรวจสอบคุณภาพผู้รับเหมาหรือไม่ เนื่องจากผู้รับเหมารายนี้เป็นกิจการค้าร่วมทุน มีประสบการณ์ทำงานอย่างไรบ้างเป็นคำถามที่กทม.ต้องหาคำตอบ จริง ๆ แล้วตามหลักสากลเมื่อเกิดเหตุต้องมีวิศวกรภายนอกมาตรวจสอบหน้างานเพื่อตรวจสอบสาเหตุ ด้วยเหตุทั้งหมดนี้จึงจำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษา
“คุณภาพของผู้รับเหมาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเรื่องนี้เป็นเหตุสะเทือนขวัญมาก เราไม่ได้ทำดาวเทียมไปนอกโลก เราทำแค่ทางยกระดับที่กทม.ทำมาหลายครั้งแล้ว ที่สำคัญคือนายช่างเบอร์หนึ่งคือหน่วยงานของกทม.หรือสำนักการโยธา ต่อไปผู้รับเหมาต้องหาที่มีความรับผิดชอบมากกว่านี้ หากต้องเร่งงานมาตรฐานก็ต้องสูงขึ้นด้วย”
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า อยากให้กำหนดขอบเขตว่าโครงการที่จะศึกษามีขนาดเท่าใด เนื่องจากในกทม.มีโครงการขนาดใหญ่มีจำนวนมาก เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับภารกิจคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากทม. โดยตรวจสอบความถูกต้องของสัญญา วัสดุอุปกรณ์ ผู้ทำงาน
“เชื่อว่าโครงการขนาดใหญ่ต้องมีวิศวกรเข้ามาดูแลการก่อสร้าง และบริษัทต้องเสนอชื่อวิศวกร โดยอาจกำหนดใน TOR อุบัติเหตุโครงการขนาดนี้เกิดขึ้นจากความประมาทเป็นส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องให้ผู้มีความรู้ความสามารถจริง ๆ เข้ามาดำเนินการ และให้ได้แนวทางการดำเนินการในอนาคตที่สามารถนำมาใช้ได้จริง รวมทั้งให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบต้องตระหนักถึงความสำคัญ”
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่จริงร่วมกับคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง ซึ่งได้เคยอภิปรายเรื่องความล่าช้าของโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ตั้งแต่เป็นส.ก.มายังไม่เคยเห็นโครงการขนาดใหญ่ถล่มแบบนี้มาก่อน ต้องถามคณะกรรมการตรวจรับได้ดูแลใกล้ชิดหรือไม่ และกทม.ได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อหารถเครนสำหรับใช้ในกรณีเช่นนี้หรือไม่ มีการจ้างที่ปรึกษาโครงการนี้หรือไม่