แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า วันนี้ (28 สิงหาคม 2566) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เดินทางเข้ามาพบกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานสถานะประเทศไทยในปัจจุบันให้กับนายกรัฐมนตรี รับทราบ ก่อนเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการ
สำหรับการรายงานครั้งนี้ เลขาธิการ สศช. ได้แจ้งถึงสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ทั้งปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 เศรษฐกิจไทย ขยายตัวแค่ 1.8% ชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาสแรก และช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.2%
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 สศช. รายงานต่อนายกรัฐมนตรี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5-3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ
ขณะที่ด้านสังคมเองนั้น สศช. ยังได้รายงานสถานการณ์ด้านการจ้างงาน การว่างงาน รวมไปถึงเรื่องของสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันด้วยว่า ยังคงอยู่ในอัตราสูงด้วย
“นายกฯ เศรษฐา ได้รับทราบสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และขอให้ สศช. เตรียมความพร้อมในการเดินหน้านโยบายที่รัฐบาลจะขับเคลื่อน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบาย เงินดิจิทัล 10,000 บาทเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป” แหล่งข่าวระบุกับฐานเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน นายกฯ ยังขอให้ดูเรื่องการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ รวมถึงการเจรจาการค้า ภายใต้กรอบการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ
เช่นเดียวกับการดูแลภาคเกษตรผ่านมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น ทั้งดอกเบี้ย เพิ่มรายได้ของเกษตรกรเป็น 3 เท่าภายในปี 2570 จากรายได้เฉลี่ย 10,000 บาทต่อไร่ต่อปี เพิ่มเป็น 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี รวมทั้งการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ SME อีกด้วย
ด้าน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวก่อนหน้านี้ถึงการเข้าไปรายงานสถานะประเทศต่อนายกรัฐมนตรีใหม่ ว่า การเข้ารายงานสถานะประเทศถือเป็นเรื่องปกติ หลังจากนายกฯ ได้รับรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้ว ก็มีกระบวนการที่ต้องดำเนินการหลายเรื่อง และต้องให้หน่วยงานต่าง ๆ มาให้ข้อมูลว่า เรื่องที่ผ่านมาต่าง ๆ เป็นอย่างไร
ทั้งนี้ในส่วนของนโยบายด้านต่าง ๆ ก็คงต้องมีการหารือและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบเช่นกันว่า รัฐบาลจะขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ อย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว