เรื่องร้อนของรัฐบาล “พรรคเพื่อไทย” ในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องของนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นโยบายเรือธงใหญ่ในการหาเสียงพรรคเพื่อไทย เรียกคะแนนเสียงมวลชนได้ 141 ที่นั่ง นโยบายดังกล่าวมีเป้าหมายใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการเติมเงินให้ประชาชนในระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล ให้สามารถใช้จ่ายใกล้บ้านในรัศมี 4 กิโลเมตร ปูทางประชาชนและประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
หลังจบการเลือกตั้ง และผ่านเส้นทางการโหวตนายกถึง 3 ครั้ง สิ้นสุดที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายเงินดิจิทัล จึงกลายเป็นความคาดหวังของประชาชน และเป็นความท้าทายใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการตามที่หาเสียงไว้
นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ใช่เรื่องง่าย เม็ดเงินหมุนได้แค่ 1.5 รอบ
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประเมินว่า การใส่เงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ 5.6 แสนล้านบาท เม็ดเงินหมุนในระบบได้ไม่เกิน 1.5 - 2 รอบเท่านั้น ส่วนการกระตุ้น GDP เม็ดเงินที่หมุนในระบบไม่เกิน 2 รอบ จะช่วยดัน GDP ได้ประมาณไม่เกิน 0.5-1% และหากเทียบกับการที่สภาพัฒน์ประเมิน GDP ประเทศที่ผ่านมา 2.5-3% เม็ดเงินจำนวน 5.6 แสนล้านบาท ไม่สามารถที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจ 0.5-1% ได้ ต้องไปลุ้นในปีหน้าว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากแค่ไหน และอาจต้องนำมาปรับกฎเกณฑ์กติกาของ 5.6 แสนล้าน เพื่อให้คุ้มและตอบโจทย์กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ
5.6 แสนล้านบาท เงินมาจากไหน ?
งบประมาณปี 2567
1.ภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท (สำนักงบฯ)
2.ภาษีนิติบุคคลและมูลค่าเพิ่ม 100,000 ล้านบาท (เงินดิจิทัล)
3.การบริหารจัดการงบประมาณเดิมที่ไร้ประสิทธิภาพ 110,000 ล้านบาท
4.การบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ชี้ว่า วันนี้โจทย์ประเทศไทยไม่ได้มีโจทย์เฉพาะการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ยังมีทั้งค่าครองชีพ ต้นทุนของผู้ประกอบการ ค่าไฟ พลังงาน หมายความว่ารัฐยังต้องใช้เงินอีกมหาศาล
เงินดิจิทัลจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เมื่อถูกนำไปใช้จ่าย หากอยู่ในระบบไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือเงินดิจิทัล หากไม่เกิดการนำไปซื้อขาย ก็ไม่เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ จำเป็นต้องดำเนินไปพร้อมกันคือ เกิดการจ้างงานในโรงงาน โรงงานผลิตสินค้า แรงงานมีรายได้ เกิดการจับจ่ายใช้สอย
เชิงเทคนิคไม่ใช่ปัญหา
ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งสตางค์ คอร์เปอเรชั่น เปิดเผยในรายการฐาน Talk ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการจ่ายเงินผ่านในแอปพลิเคชันเป๋าตัง ระบบที่ผูกกับธนาคารของรัฐ การเข้าถึงอาจจะไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด แต่นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีเป้าหมายให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป หากในเชิงเทคนิคมาอยู่ในระบบ Blockchain จะทำให้ธนาคารหลายธนาคารสามารถที่จะเข้ามาร่วมดำเนินการได้ หรือเสนอแนวทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากระบบ Blockchain ถูกออกแบบมาว่าไม่ใช่เพียงแค่คนใดคนหนึ่งเก็บข้อมูล คนอื่นเก็บได้ หากมีการส่งออกข้อมูลทุกคนจะได้รับอย่างทั่วถึง โดยรัฐบาลที่ทำระบบสามารถมีสิทธิในการกำหนดกฏ เช่น การกำหนดสิทธิสำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นในการตั้งเงินและส่งออกเงินไปให้กับประชาชน หรือประชาชนมีสิทธิในการใช้จ่ายเงินท่านั้น เป็นต้น ส่วนด้านการรองรับข้อมูลประชาการ 56 ล้านคน ในระบบบล็อกเชน สามารถทำได้เช่นกัน
“ในเชิงเทคนิคสามารถทำได้ และประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ทำ” - ปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้งสตางค์ คอร์เปอเรชั่น
ประเทศอื่นๆ ในโลกนี้เริ่มมีการใช้ระบบ Blockchain ในการใช้เงินดิจิทัล โดยส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency : CBDC) เช่น
เงินดิจิทัล : นโยบายและเทคโนโลยีที่ต้องเดินคู่กัน
“ปรมินทร์” ผู้ก่อตั้งสตางค์ คอร์เปอเรชั่น แนะนำรัฐบาลว่าควรดำเนินการระบบเงินดิจิทัล 10,000 บาท ด้วยการทดสอบในวงจำกัด หรือการทำแซนด์บ็อก เพื่อทดสอบว่าในแต่ละพื้นที่ควรทำแบบใด หรือมีนโยบายแบบใดที่จะเหมาะกับแต่ละพื้นที่ เช่นในพื้นที่ EEC หรือพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค มากกว่านโยบายเดียว แล้วดำเนินการทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ผูกพันกับจำนวนเงินมหาศาล อาจมีช่องว่างของระบบที่ทำให้แก้ไขได้ไม่ทัน นอกจากนี้ประเมินระบบเงินดิจิทัล ใช้งบการดำเนินการระบบเกิน 1,000 ล้านบาท