นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงฯและนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแจ้งขุดดินและถมดินสำหรับการดำเนินโครงการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดินและการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารสำหรับการดำเนินโครงการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
ขณะเดียวกันการลงนามในครั้งนี้จะทำให้คนไทยได้มีโอกาสทั้งเรื่องของการรับและถ่ายทอด High technology และได้มีโอกาสในการมีงาน มีอาชีพ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า จากการหารือข้อราชการร่วมกับท่านเลขาธิการ EEC ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารพื้นที่พิเศษนี้ โดยใช้กฎหมายพิเศษซึ่งเป็นกฎหมายที่มีการกำหนดพื้นที่เฉพาะเพื่อทำให้ราชการบริหารส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งการดูแลโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างอาคาร สถานประกอบการหรือโรงงานต่าง ๆ ซึ่งต้องเริ่มต้นมาจากการขุดดินและถมดิน
"การลงนาม MOU นี้จึงเป็นที่มาของการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารใน 3 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง รวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการในพื้นที่ มาร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมการบูรณาการในวันนี้”
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า การให้ความสำคัญกับหน่วยงานราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเห็นการพัฒนาตามจุดมุ่งหมายของการกำหนดให้มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพิ่มมากยิ่งขึ้น
"แน่นอนว่าช่วงเริ่มต้นจะมีความยากลำบากไม่มากก็น้อยและในวันนี้เป็นโอกาสพิเศษที่เราจะทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนขนาดใหญ่ ตลอดจนถึงขนาดกลางในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมาอย่างชัดเจน"
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงในวันนี้ จะทำให้การดำเนินการต่าง ๆ ในอนาคต ที่จะเป็นการสนับสนุนในการจัดตั้งโรงงาน สถานประกอบการ ซึ่งจะเป็นการลงทุนที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศ
ปัจจุบันเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีกฎหมายที่มีการกำหนดอำนาจเฉพาะ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างอาคาร จึงต้องอาศัยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) เพื่อจะได้สนับสนุนในการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างรวดเร็วตามเป้าหมาย เพราะประโยชน์ของประเทศเกิดจากการลงทุนและการลงทุนต้องเกิดจากนักลงทุน
"หากทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็จะเป็นผลดีต่อพี่น้องประชาชนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ดังนั้นการลงทุนให้รวดเร็ว คือ การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาออกใบอนุญาตให้กับนักลงทุนต่าง ๆ จึงต้องหวังพึ่งกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อไปในอนาคตเราจะต้องมีความเกี่ยวข้องและต้องหวังพึ่งกันและกันในอีกหลายเรื่อง"
นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกระทรวงมหาดไทย ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (EEC)
"วันนี้เป็นโอกาสดีในการสร้างความรับรู้โดยให้ส่วนราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้ประกอบการเอกชนได้มาร่วมกันประกาศและเป็นสักขีพยานในการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อประโยชน์ของประเทศ"
นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีมุ่งเน้นการขับเคลื่อนพัฒนาตามแนวทาง EEC อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การสร้างความรับรู้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เรื่อง EEC โดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ดินเพื่อจัดทำ Smart City การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รวมไปถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างท่าเรือแหลมฉบัง การขยายนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร
"การบูรณาการก็จะช่วยสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนทุกคนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เกิดความชัดเจน ก็จะเกิดการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน"
นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า จังหวัดระยองเดิมเป็นเขตพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งได้พัฒนามาสู่จังหวัดอุตสาหกรรมควบคู่กับเกษตรกรรมมาโดยตลอด จนมาถึงการเข้าสู่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีทั้งการจัดสร้างสนามบินอู่ตะเภา การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด การก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง
"การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) นี้จะเป็นการบูรณาการร่วมมือในทุกมิติซึ่งจะคำนึงถึงผลกระทบของพี่น้องประชาชนในทุกด้าน จึงเป็นหน้าที่ของส่วนราชการในการสร้างความรู้และทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เพื่อให้การทำงานดังกล่าวราบรื่นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป็นผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติ"