นักวิชาการ TDRI ห่วงแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้ไม่คุ้มเสีย

05 ก.ย. 2566 | 02:29 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2566 | 02:42 น.

นักวิชาการ TDRI วิเคราะห์นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท อาจหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยไม่เกิน 1 รอบ กระตุ้นจีดีพีไม่ถึง 3% เพราะมีเงินจำนวนไม่น้อยที่อาจตกอยู่ในมือของผู้ที่ยังไม่ต้องการใช้เงินในทันที

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวกับ ฐานเศรษฐกิจ วิเคราะห์ถึงนโยบาย แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจดังเช่นในช่วงภาวะวิกฤิติโควิด 19 ที่ผ่านมา เพราะขณะนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างภาคการท่องเที่ยว ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนภาคการส่งออกแม้จะติดลบ แต่ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ และสร้างเม็ดเงินเข้ามาในประเทศมากพอสมควร

“นโยบายของพรรคเพื่อไทยมีทั้งที่เป็นประชานิยมและไม่เป็นประชานิยม ซึ่งประชานิยมในความหมายด้านลบตือการหวังคะแนนนิยม แต่ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจได้จริง โดยในช่วงภาวะวิกฤตินั้น หลาย ๆ ประเทศก็อัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินทั้งนั้น แต่ช่วงนี้ไทยเราไม่ได้เข้าสู่ภาวะวิกฤติขนาดนั้น”

สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย 5.6 แสนล้านบาทที่คิดเป็น 3% ของจีดีพี จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างน้อย 3% นั้น ดร.สมชัย มองว่า อาจจะคิดง่ายเกินไปเพราะนโยบายในครั้งนี้ เป็นการแจกเงินดิจิทัลแลบถ้วนหน้า ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้คัดว่าจะให้ใครบ้าง ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้เดือดร้อนต้องรีบใช้เงิน เขาก็อาจจะไม่ได้นำเงินจำนวนนี้ออกมาใช้ หรือ อาจจะใช้เงินจำนวนนี้ในแผนการใช้เงินเดิมของตัวเองที่ตั้งใจจะใช้อยู่แล้ว ก็จะทำให้ไม่เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนมากขึ้น

“สมมติว่าผมจะซื้อโทรทัศน์อยู่แล้วด้วยงบประมาณ 10,000 บาท ถ้าสามารถใช้เงินดิจิทัลนี้ซื้อได้ ผมก็จะใช้ ส่วนเงิน 10,000 บาทเดิมที่เตรียมจะจ่ายก่อนหน้านี้ ก็เก็บไว้ในบัญชี ไม่นำออกมาใช้จ่าย ก็จะทำให้เงินดิจิทัลนี้ แค่เข้าไปแทนที่เงินงบประมาณเดิมของผม ไม่ได้ทำให้ผมใช้จ่ายเพิ่มนั่นเอง ตามปกติแล้ว นโยบายแจกเงินถ้วนหน้า มักจะมีตัวคูณที่ต่ำ เพราะเงินอาจจะไปอยู่ในมือชนชั้นกลางและสูงที่ไม่ได้เดือดร้อนต้องรีบใช้เงิน”

ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า ไม่ต้องกังวลว่า ถ้านโยบายแจกเงินดิจิทัล ทำให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าโตได้ถึง 3% เมื่อรวมกับเครื่องยนต์อื่น ๆ แล้ว อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้สูงถึง 6-7% ซึ่งจะทำให้เงินภาวะเงินเฟ้อ เพราะส่วนตัวมองว่าด้วยเหตุผลที่กล่าวไป น่าจะทำให้เงินจำนวน 5.6 แสนล้านบาท หมุนในระบบเศรษฐกิจไทยได้ไม่ถึง 1 รอบด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ยังต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาของเงินด้วย ว่าจะนำมาจากส่วนใด หากนำมาจากการกู้ทั้งหมด ก็หมายความว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยก็จะเพิ่มขึ้นราว 3% ด้วย ซึ่งมองว่าไม่คุ้ม เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้น ไม่ได้เติบโตจากภาคการผลิต ส่งออก หรือท่องเที่ยว นโยบายนี้อาจเป็นเพียงการนำเงินอนาคตมาใช้เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายวถานการณ์ให้จับตา เช่น หากไทยจะประสบภาวะเงินเฟ้อจริงในปีหน้าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจจะมีปัจจัยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้จะมีไทม์ไลน์ของการขยับขึ้นที่ชัดเจนแล้ว แต่ร้านค้า เจ้าของธุรกิจ กิจการต่าง ๆ ก็เตรียมพปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นตามเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งออกนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย