“กรมขนส่งทางบก” วุ่น ปั้น 2 ศูนย์ขนส่งสุราษฎร์ธานี-มุกดาหาร เชื่อมระบบราง

08 ก.ย. 2566 | 06:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2566 | 06:56 น.

“กรมขนส่งทางบก” เล็งชงครม.ใหม่ไฟเขียวประมูลศูนย์ขนส่งสินค้าสุราษฎร์ธานี 150 ไร่ ต้นปีหน้า ลุ้นเอกชนร่วมทุน PPP 20 ปี ภายในปี 67 ฟากศูนย์ขนส่งสินค้ามุกดาหารส่อวืด หวั่นที่ตั้งโครงการกระทบลาน CY ของรฟท.

ปัจจุบัน “กรมการขนส่งทางบก” เดินหน้าเปิดประมูลก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าหลายแห่ง ขณะนี้ได้มีการเปิดให้บริการบางส่วนแล้ว หากหลายโครงการฯแล้วเสร็จ จะช่วยรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย–สปป.ลาว ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมฯมีแผนศึกษาโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เบื้องต้นกรมฯอยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขของโครงการฯ ตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุน เนื่องจากเป็นโครงการที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ (PPP) ซึ่งโครงการฯควรมีความน่าสนใจเพียงพอให้เอกชนมาร่วมลงทุน คาดว่าจะทบทวนแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน หลังจากนั้นจะเสนอโครงการฯต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่พิจารณาเห็นชอบภายในต้นปี 2567
 

ทั้งนี้หากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว จะเริ่มออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน (พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน) ภายในปลายปี 2567 หลังจากนั้นจะจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนและเปิดประมูลได้ภายในปี 2567 โดยใช้รูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) สัญญาสัมปทาน 20 ปี และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568-2569 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดเปิดให้บริการภายในปี 2570 

 

สำหรับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขนาดพื้นที่ 150 ไร่  ภายในพื้นที่มีอาคารรวบรวมและกระจายสินค้า ซึ่งเป็นฟังก์ชันหลักของ Truck Terminal ประกอบด้วย คลังสินค้า, ลานเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) ,อาคารสำนักงาน ,โรงอาหาร ฯลฯ ทั้งนี้พื้นที่โครงการฯ เบื้องต้นมีตำแหน่งที่ตั้งติดถนนทางหลวงหมายเลข 41 (สายเอเชีย) ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้เชื่อมต่อการขนส่งหลักของภาคใต้
 

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันยังติดปัญหากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เนื่องจากตามแผนเดิมพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า(CY) ของรฟท.จะอยู่ใกล้ชิดกับโครงการนี้ หากโครงการฯก่อสร้างใกล้กันจะทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐ แต่ปัจจุบันพบว่ารฟท.ยังไม่สามารถปรับแผนพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า(CY) ได้ทัน ทำให้กรมฯต้องรอสรุปผลรายงานต่อกระทรวงคมนาคมในเรื่องนี้ว่าควรดำเนินการก่อสร้างหรือไม่   

“กรมขนส่งทางบก” วุ่น ปั้น 2 ศูนย์ขนส่งสุราษฎร์ธานี-มุกดาหาร เชื่อมระบบราง

“โครงการฯยังมีเวลาในการตัดสินใจ ซึ่งเราจะต้องดูทิศทางอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากปัจจุบันยังมีโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดนครพนมและโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดหนองคายที่เข้ามารองรับการให้บริการในอนาคตด้วย”

 

รายงานข่าวจากขบ. กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าจังหวัดหนองคาย ปัจจุบันทางกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากรฟท.มีโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าบริเวณสถานีนาทา ซึ่งจะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสินค้าและรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวมทั้งโครงการรถไฟลาว-จีน ในอนาคต คาดว่าจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อลดภาระงบประมาณของภาครัฐ

 

ที่ผ่านมารฟท.ได้มีการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีหนองคายและแผนพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้าสถานีนาทา (CY) โดยแผนพัฒนา CY ย่านนาทา พื้นที่ 268 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของศูนย์ซ่อมบำรุงเบาที่สถานีนาทา และสามารถเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ด้วยถนนตัดใหม่ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) รวมถึงเชื่อมต่อกับศูนย์ขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกทางด้านเหนือของพื้นที่ โดยปัจจุบัน รฟท.ได้กำหนดแผนใช้พื้นที่ของศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ดังนี้

 

โซน A พื้นที่สำหรับกองเก็บตู้สินค้าประเภทต่างๆ (CONTAINER YARD) 120 ไร่ ,โซน B พื้นที่ลานขนส่งสินค้า (TRANSSHIPMENT YARD) ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ ราง ถนน และลานนกองเก็บโดยรอบ 75 ไร่ เพื่อให้สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีนและ สปป.ลาว รวมถึงส่งออกไปยังสปป.ลาวและจีน พร้อมกับมีการติดตั้งเครนสำหรับยกตู้และวางตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนลงมาวางชั่วคราว

 

โซน C พื้นที่อาคารสำนักงาน โรงพักสินค้า และที่จอดรถ 73 ไร่ จะประกอบไปด้วย ส่วนที่ 1 เป็นพื้นที่สำนักงานศุลกากร และคลังสินค้าศุลกากร ส่วนที่ 2 เป็นศูนย์ปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ อาทิ ลานและอาคารตรวจสอบสินค้าอาคารเอ็กซ์เรย์รถบรรทุก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการแบบ One -Stop Service