นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญามุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น ยกระดับความสามารถ ในการแข่งขันของภาคเกษตรกร และสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ซึ่งกรมฯ ได้ผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ๆ เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมการควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน เกลือสมุทรแม่กลอง ซึ่งเป็นสินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญา การทำนาเกลือของคนในพื้นที่ที่สืบต่อกันมา ในอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
ทั้งนี้เกลือสมุทรแม่กลองเป็นเกลือเม็ดและดอกเกลือ ซึ่งเป็นผลึกเกลือมีสีขาวตามธรรมชาติ รสชาติเค็ม กลมกล่อม ละลายน้ำได้เร็ว เกิดจากการนำน้ำทะเลบริเวณอ่าวแม่กลองที่ไหลผ่านป่าชายเลนมาตามแพรก คู คลอง ที่ปกคลุมไปด้วยป่าแสม ป่าโกงกาง ส่งผลให้น้ำทะเลสะอาด และมีคุณภาพดี มาตากในแปลงนาให้ระเหยจนตกผลึก
โดยแหล่งผลิตเกลือสมุทรแม่กลอง อยู่ใน พื้นที่อําเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลลักษณะของดินเป็นดินเหนียวและดินเค็ม พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินชุดสมุทรสงคราม เป็นดินลึก ดินเหนียว ตลอดหน้าตัด ปฏิกิริยาของดินเป็นกรดปานกลางถึงด่างปานกลาง มีความสามารถในการอุ้มน้ำสูง และทำให้ น้ำซึมผ่านได้ช้า ด้วยลักษณะพื้นที่และแหล่งภูมิศาสตร์ทำให้พื้นที่นาเกลือบริเวณจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับแสงแดดจัดค่อนข้างยาวนาน ส่งผลให้พื้นดินไม่นิ่มจนเกินไป
ความเข้มของแสงแดดที่จัดสม่ำเสมอช่วยให้การระเหยของผิวน้ำในนาเกิดการตกผลึกเกลือได้ปริมาณมาก ผสมผสานกับกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับสืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น ทำให้เกลือสมุทรแม่กลองมีความขาว สะอาด อุดมด้วยแร่ธาตุไอโอดีน มีรสชาติเค็มกลมกล่อมตามธรรมชาติ ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพดี เหมาะสำหรับใช้ปรุงรสอาหาร เป็นที่ยอมรับจากคนทั่วไป และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ในชุมชนไปกว่า 51 ล้านบาท