ที่การประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP29) ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ได้มีการรับรองข้อตกลงตั้งเป้าการระดมทุนด้านภูมิอากาศโลก 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนารับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลในปี 2578 เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ที่ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป้าหมายเดิมนั้นบรรลุผลล่าช้าไป 2 ปี โดยสำเร็จในปี 2565 และจะหมดอายุลงในปี 2568
อย่างไรก็ตาม นางจันทนี ไรนา ตัวแทนคณะผู้แทนอินเดีย แสดงจุดยืนคัดค้านการรับรองเอกสารฉบับนี้ โดยระบุว่าเป็นเพียง "ภาพลวงตา" และไม่สามารถแก้ไขความท้าทายขนาดใหญ่ที่ทุกประเทศกำลังเผชิญได้
ด้านนายไซมอน สตีล หัวหน้าด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ ยอมรับว่าการเจรจาเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่เชื่อว่าข้อตกลงนี้จะเป็น "กรมธรรม์ประกันภัย" สำหรับมนุษยชาติในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน พร้อมย้ำว่าจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินเต็มจำนวนและตรงเวลา
นอกจากนี้ ข้อตกลงยังรวมถึงเป้าหมายที่กว้างขึ้นในการระดมทุน 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2578 ซึ่งรวมเงินทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยนักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าเป็นจำนวนที่สอดคล้องกับความต้องการในการแก้ปัญหาโลกร้อน
ประเด็นที่น่ากังวลคือชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2568 เนื่องจากเคยประกาศว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องหลอกลวง และสัญญาว่าจะถอนสหรัฐฯ ออกจากความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศอีกครั้ง
ทั้งนี้ รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหประชาชาติปี 2567 ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่อาจเพิ่มขึ้นถึง 3.1 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่ต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม
สถานการณ์ภูมิอากาศที่รุนแรงในปีนี้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งน้ำท่วมในแอฟริกาที่คร่าชีวิตผู้คนนับพัน ดินถล่มฝังหมู่บ้านในเอเชีย ภัยแล้งในอเมริกาใต้ที่ทำให้แม่น้ำแห้งขอด
รวมถึงฝนตกหนักที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมในเมืองบาเลนเซีย ประเทศสเปน เมื่อเดือนที่แล้ว ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน
ขณะที่สหรัฐฯ ประสบภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์แล้ว 24 ครั้งในปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง