ผู้ถือหุ้นไฟเขียว KCC เป็นโฮลดิ้ง ประมูลหนี้ Non bank

12 ก.ย. 2566 | 06:53 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2566 | 07:02 น.

ผู้ถือหุ้น KCC อนุมัติแผนปรับโครงสร้าง ตั้ง “ไนท คลับ แคปปิตอล โฮลดิ้ง” เดินหน้าแลกหุ้น 1 หุ้น KCC ต่อ 1 หุ้น โฮลดิ้ง คาดกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้นหุ้นโฮลดิ้งกลับเข้าเทรด mai ประมาณไตรมาส 2 ปี 67

นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ KCC ผู้ดำเนินธุรกิจจัดหาและบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายและการปรับปรุงทรัพย์สินรอการขายเพื่อจำหน่าย เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 มีมติอนุมัติแผนปรับโครงสร้างการถือหุ้น และการจัดการของบริษัทฯ (แผนปรับโครงสร้างฯ) และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯ โดยจัดตั้ง “บริษัท ไนท คลับ แคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 

 

ทั้งนี้หลังได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น บริษัทจะดำเนินการตามเกณฑ์และขั้นตอนต่างๆ ของทางการ เช่น เดือนมี.ค. 2567 จะสามารถยื่นแบบคำขออนุญาตและแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์พร้อมกับการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ตามแบบ 69/247-1 หลัง ก.ล.ต. อนุมัติคำขอและหลังจากนั้นบริษัทโฮลดิ้งเริ่มทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ จากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท โดยมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 620 ล้านหุ้น มีราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท คิดเป็น 310 ล้านบาท โดยวิธีแลกหุ้นในอัตรา 1 หุ้นสามัญของบริษัทฯต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทโฮลดิ้ง และ คาดว่า บริษัท ไนท คลับ แคปปิตอล โฮลดิ้ง จะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ประมาณไตรมาส 2 ปี 2567

ผู้ถือหุ้นไฟเขียว KCC ขยับฐานะเป็นโฮลดิ้ง

นายทวี  กล่าวว่า การยกระดับเป็นบริษัทโฮลดิ้ง มีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1.เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจ ลดข้อจำกัดด้านการลงทุน โดยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มบริษัทฯ เพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว 2.เพื่อให้สามารถแบ่งแยกขอบเขตการบริหารธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจได้อย่างชัดเจน โดยจะสามารถจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจบริหารสินทรัพย์เดิมซึ่งเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัทฯ 3.เพื่อให้สามารถขยายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ภายใต้การบริหารงานของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสายธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละธุรกิจสามารถเติบโตและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย นำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีให้กับกลุ่มบริษัทในอนาคต และ 4.เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละธุรกิจเนื่องจากแต่ละธุรกิจสามารถกำหนดขอบเขต หน้าที่ ความรับผิดชอบของบุคลากรในแต่ละสายงานได้อย่างชัดเจน

“ การยกฐานะขึ้นเป็นโฮลดิ้งจะทำให้มีความคล่องตัว  สามารถลงทุนซื้อหนี้ที่ไม่ใช่เฉพาะหนี้จากหนี้สถาบันการเงินได้เท่านั้น เช่น เข้าไปซื้อหนี้ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้หรือหนี้ที่เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ หนี้การค้าและหนี้หุ้นกู้ต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้ธุรกิจขยายฐานได้กว้างมากขึ้น เพราะบริษัทมีความชำนาญในเรื่องของการซื้อหนี้อยู่แล้ว ชึ่งการที่  KCC ดำเนินธุรกิจภายใต้ใบอนุญาต AMC จะซื้อได้เฉพาะหนี้จากสถาบันการเงินเท่านั้น”  นายทวีกล่าว

 นายทวี กล่าวว่า ในส่วนการทำธุรกิจของ KCC ช่วงครึ่งแรกปี 2566 ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายบริษัทมีส่วนของเจ้าของหรือส่วนของผู้ถือหุ้นก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,131.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จำนวน 36.40 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน โดยงวด 6 เดือน และไตรมาส 2 ของปี  2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ  49.53  ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ  20.62  ล้านบาทตามลำดับ ขณะเดียวกันบริษัทก็เห็นโอกาสจากการเข้าไปประมูลหนี้ที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายที่เริ่มมีเพิ่มมากขึ้นในระบบขณะนี้.