นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญสร้างความกังวลว่าจะส่งผลเสียหายต่อภาคเกษตรไทย และทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยลดลง ดังนั้น มาทำความรู้จักกับเอลนีโญให้มากขึ้น ถอดบทเรียนการเกิดเอลนีโญในอดีต และเตรียมรับมือกับเอลนีโญที่จะเกิดขึ้น
ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ประกาศแจ้งเตือนปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น และการเกิดเอลนีโญจะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศและมรสุมแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก
เอลนีโญเกิดจากกระแสลมเปลี่ยนทิศ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังภูมิภาคอเมริกาใต้ จึงทำให้ภูมิภาคอเมริกาใต้มีฝนตกหนักกว่าปกติ ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย จะเกิดภัยแล้งและอาจเกิดไฟป่า
ซึ่งในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา โลกเผชิญซูเปอร์เอลนีโญแล้ว 5 ครั้ง (ปี 2515/16 2525/26 2534/35 2540/41 และ 2558/59) และจะเกิดครั้งต่อไปในเดือนตุลาคม 2566 ไปจนถึงปี 2567 ซึ่งเอลนีโญจะเกิดทุก ๆ 2 - 7 ปี มีระยะเวลา 9 - 12 เดือน นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าเอลนีโญจะมาถี่ขึ้น และอุณหภูมิอาจยกกำลังเพิ่มขึ้น
รายงานการศึกษาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ศึกษาผลกระทบของเอลนีโญ (El Niño Shock) ในอดีต โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ โดยใช้ข้อมูลปี 2522 -2556 เผยแพร่เมื่อต้นปี 2560 พบว่าเอลนีโญส่งผลกระทบทำให้ (1) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Prices) สูงขึ้น ซึ่งความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่เพียงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น แต่ทำให้ความต้องการใช้ถ่านหินและน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง นอกจากนี้ ภาคการเกษตรมีความต้องการน้ำมากขึ้นเพื่อการชลประทานซึ่งต้องใช้เชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ปัจจัยเหล่านี้ ผลักดันให้ราคาพลังงานสูงขึ้น (2) เงินเฟ้อ (Inflation) เกิดจากราคาเชื้อเพลิงและราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น นอกจากนี้ หากประเทศใดมีสัดส่วนน้ำหนักของสินค้าหมวดอาหารในตะกร้าเงินเฟ้อ (CPI) ค่อนข้างสูง ก็อาจทำให้เงินเฟ้อสูงด้วย
(3) อัตราการเติบโตของผลผลิตที่แท้จริง (Real Output Growth) ซึ่งผลกระทบแตกต่างกันไป เช่น อาร์เจนตินา: ฝนตกอุดมสมบูรณ์ทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น ออสเตรเลีย: ผลผลิตข้าวสาลีลดลงจากความแห้งแล้ง ทำให้ราคาข้าวสาลีโลกสูงขึ้น แคนาดา: ผลผลิตประมงเพิ่มขึ้นจากอากาศอบอุ่นขึ้น ชิลี: ฝนตกหนักกระทบการทำเหมืองแร่ทองแดงทำให้ผลผลิตลดลง อินเดีย: ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ราคาอาหารและเงินเฟ้อสูงขึ้น อินโดนีเซีย: ภาคเกษตรได้รับผลกระทบ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์ของโลกสูงขึ้น เช่น กาแฟ โกโก้ และน้ำมันปาล์ม นอกจากนี้ การทำเหมืองนิกเกิลในอินโดนีเซียต้องอาศัยพลังงานน้ำ ด้วยปริมาณฝนที่ไม่เพียงพอ ทำให้การส่งออกนิกเกิลของอินโดนีเซียลดลงและราคาโลกสูงขึ้น
การเกิดซูเปอร์เอลนีโญ ปี 2558 และสถานการณ์สินค้าเกษตรไทย หากย้อนดูผลกระทบต่อไทยในปี 2558 ซึ่งเป็นปีล่าสุด ที่เกิดซูเปอร์เอลนีโญ พบว่าปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญของไทยส่วนใหญ่ลดลง โดยข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตลดลง ร้อยละ 15.4 17.6 และ 1.9 ตามลำดับ ขณะที่มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.8 เนื่องจากภาครัฐส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังทดแทนในพื้นที่นาที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าว และมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ในส่วนของราคาสินค้าเกษตร ในปี 2558 สินค้าเกษตรหลายรายการราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวเปลือก (เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8) มันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3) ทุเรียน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9) มังคุด (เพิ่มขึ้นร้อยละ72.8) ลำไย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6) และเงาะ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3)
สำหรับสินค้าเกษตรที่ราคาลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน (ลดลงร้อยละ 5.4) ทั้งนี้ โดยทั่วไปเมื่อผลผลิตลดลง จะส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้น แต่กรณีปาล์มน้ำมัน ทั้งปริมาณผลผลิตและราคาลดลง มีสาเหตุจากการมีสต๊อกน้ำมันปาล์มอยู่จำนวนมาก และภาวะการค้าชะลอตัวจากผลผลิตปาล์มน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการส่งออกของไทยในปี 2558 พบว่าสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว (ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 10.7 และ 10.8 ตามลำดับ) น้ำมันปาล์ม (ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 61.6 และ 63.9 ตามลำดับ) มังคุด (ปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 8.6 และ 9.4 ตามลำดับ) ในส่วนของสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น
ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และ 2.5 ตามลำดับ) ทุเรียน (ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 3.1 ขณะที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5) ลำไย (ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 และ 22.9 ตามลำดับ) เงาะ (ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.7 และ 52.7 ตามลำดับ) เนื่องจากมีความต้องการของตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ในภาพรวมเอลนีโญทำให้ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่หากผลกระทบด้านผลผลิตที่ลดลงมีมากกว่าผลกระทบด้านราคาที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้รายได้ลดลง สำหรับในรายสินค้า เช่น สินค้าข้าว มีการคาดการณ์ว่าผลผลิต ปี 2566/67 จะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ก็พอเพียงสำหรับบริโภคในประเทศและส่งออกได้ ซึ่งอินโดนีเซียมีนโยบายความมั่นคงทางอาหารต้องการสำรองข้าว ขณะที่อินเดียขึ้นภาษีส่งออกข้าวนึ่ง รวมทั้งระงับการส่งออกข้าวทุกชนิดที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ อีกทั้งเวียดนามมีนโยบายลดปริมาณการส่งออกข้าว
โดยจะส่งออกข้าวคุณภาพสูงและไม่เน้นปริมาณ ปัจจัยเหล่านี้ น่าจะส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 อินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงกับอินเดีย อนุญาตนำเข้าข้าวจากอินเดีย 1 ล้านตัน เพื่อจัดหาข้าวในกรณีเกิดการหยุดชะงักอันเป็นผลจากเอลนีโญ ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดเพื่อหาช่องทางและโอกาสทางการค้าสำหรับไทย
นอกจากนี้ ไทยต้องเร่งพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี ใช้หลักตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ และสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน สำหรับในช่วง 7 เดือนแรก ของปี 2566 มูลค่าการส่งออกข้าวของไทย ขยายตัวร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า