"สทนช."รุกบริหารจัดการน้ำภูเก็ตแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง-เสีย

04 ก.ย. 2566 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2566 | 12:31 น.

"สทนช."รุกบริหารจัดการน้ำภูเก็ตแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้ง-เสีย ตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการครอบคลุมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี หลังประสบปัยหาทุกปี

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้ดำเนินโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต ตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ที่ครอบคลุมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภูเก็ตบรรลุผลมีการบูรณาการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ท้ายน้ำ โดยหากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้จังหวัดภูเก็ตได้ ประมาณ 60.53 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่รับประโยชน์จากการจัดการด้านอุทกภัย จำนวน 42,796 ไร่ และสามารถเพิ่มศักยภาพในการบำบัดน้ำเสียได้ จำนวน 4.96 ล้าน ลบ.ม./ปี

ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตกำลังประสบกับปัญหาการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ตอนบน ดังนั้น การฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศทรัพยากรน้ำในพื้นที่ป่าชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งในโครงการเบื้องต้นที่วางแผนไว้คือ การสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดินพื้นที่ป่าชุมชนบ้านน้ำตกกะทู้ อำเภอกะทู้ 
 

โดยจะทำฝายชะลอน้ำเป็นฝายต้นน้ำแบบกล่องเกเบี้ยน เป็นแบบที่พัฒนามาจากฝายผสมผสานแบบหินทิ้งให้เกิดความคงทนแน่นหนา ป้องกันไม่ให้ถูกน้ำพัดพาไปได้ ด้วยการใช้กล่องตาข่ายชุบกาวาไนซ์ขนาดเหมาะสม เมื่อใส่กระสอบดินทรายแล้วมีน้ำหนักมากพอไม่ให้ความแรงของน้ำไหลพัดพาหรือยกไปได้ วางเรียงตามแนวที่จะสร้างฝาย มัดกล่องตาข่ายให้ติดกับเสาปูนอย่างมั่นคงตามความกว้างของฝาย ซึ่งคาดว่าจะช่วยป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินได้ไม่ต่ำกว่า 291 ไร่

สทนช.รุกบริหารจัดการน้ำภูเก็ตแก้ปัญหาน้ำท่สม-แล้ง-เสีย

“การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากป่าต้นน้ำช่วยทำหน้าที่รองรับน้ำฝนและช่วยรักษาความสมบูรณ์ให้แหล่งน้ำในธรรมชาติ ทำให้แม่น้ำมีน้ำตลอดทั้งปี เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่า นอกจากช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน ป้องกันตะกอนดินไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะแล้ว การปรับปรงคุณภาพน้ำก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำในพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ โดยเฉพาะผลกระทบจากน้ำเสียที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ด้วยการใช้มาตรการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากชุมชนและสถานประกอบการ มุ่งเน้นการบำบัดน้ำเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ก็ถูกบรรจุไว้ในแผนหลักการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดภูเก็ตด้วย” 

อย่างไรก็ดี โรงปรับปรุงคุณภาพน้ำ เทศบาลเมืองป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่สามารถใช้ขยายผลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตนเองได้ เนื่องจากหาดป่าตองเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต แต่ละปีมีประชากรและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของมลพิษทางน้ำ 

เทศบาลเมืองป่าตองได้เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่เกิดขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำเสีย เพื่อเป็นศูนย์รวมในการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยเริ่มดำเนินการตั้งปี 2532 ความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย 2,250 ลบ.ม./วัน และได้พัฒนาปรับปรุงระบบต่างๆ เรื่อยมา จนกระทั่งปัจจุบันสามารถรองรับน้ำเสียได้รวม 39,000 ลบ.ม./วัน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตร พร้อมเสนอแนะวิธีรณรงค์ประหยัดน้ำ ด้วยการติดมิเตอร์ที่ฟักบัว หวังลดปริมาณใช้น้ำ ซึ่งวิธีนี้ได้ผลมาแล้วในต่างประเทศ พร้อมมั่นใจสถานการณ์เอลนีโญไม่กระทบภูเก็ต 

สทนช.รุกบริหารจัดการน้ำภูเก็ตแก้ปัญหาน้ำท่สม-แล้ง-เสีย

​นายสุรสีห์ กล่าวอีกว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางด้านการท่องเที่ยวและอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ แต่ด้วยสภาพพื้นที่และศักยภาพด้านทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน ยังประสบปัญหาทั้งด้านการขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี จากภาวะฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้ง มีปริมาณการขาดแคลนน้ำรายปีเฉลี่ยทุกด้านรวมกันอยู่ที่ 25.54 ล้าน ลบ.ม. 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาน้ำท่วม เกิดจากคลองส่วนใหญ่น้ำล้นตลิ่งเนื่องจากสภาพทางภูมิประเทศในบางช่วงที่เป็นลักษณะคอขวด ทำให้ระบายน้ำได้น้อยจนเกิดน้ำสะสมล้นตลิ่ง รวมถึงมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ น้ำทะเลหนุนบริเวณชายฝั่ง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อยู่เป็นประจำ อีกทั้งจังหวัดภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้มีอัตราการขยายเมืองของจังหวัดภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการขยายที่ทำกินสู่พื้นที่ต้นน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง 

โดยพบว่า ตำบลศรีสุนทร มีความรุนแรงในการสูญเสียหน้าดินมากที่สุดถึง 2,082 ตัน/ไร่/ปี รองลงมาคือ ตำบลกระทู้ มีความรุนแรงของการสูญเสียหน้าดินเฉลี่ย 2,015 ตัน/ไร่/ปี ที่สำคัญยังพบปัญหาคุณภาพน้ำ น้ำเสียส่วนใหญ่เกิดจากแหล่งชุมชนและสถานบริการ โดยมีปริมาณน้ำเสียเกิดขึ้นรวม 149,917 ลบ.ม./วัน ขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนในจังหวัดภูเก็ต สามารถรองรับน้ำเสียได้แค่เพียง 94,961 ลบ.ม./วัน