ไทยถกสหรัฐฯ ดันเร่งต่ออายุ GSP ขอปลดพ้นบัญชีWL ด้านทรัพย์สินทางปัญญา

15 ก.ย. 2566 | 08:25 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2566 | 08:28 น.

ไทยถกสหรัฐฯ ดันเร่งต่ออายุGSP ให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ ยังคงได้รับประโยชน์และแต้มต่อทางการค้า ขอให้ถอดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ด้านสหรัฐฯ อยู่ระหว่างเสนอร่างกฎหมายต่ออายุGSP

นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-สหรัฐอเมริกา ภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement: TIFA) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ณ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

ไทยถกสหรัฐฯ ดันเร่งต่ออายุ GSP  ขอปลดพ้นบัญชีWL ด้านทรัพย์สินทางปัญญา

โดยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน (นายธานี แสงรัตน์) พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม ฝ่ายสหรัฐฯ มีรองผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (นางซาร่าห์ เบียนคิ) Ambassador Sarah Bianchi เป็นประธานเปิดการประชุม 

การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้กระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกัน หลังจากที่ไม่มีการประชุมมากว่า 4 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด โดยไทยได้ขอให้สหรัฐฯ เร่งรัดต่ออายุโครงการ GSP ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อปี 2563 เพื่อให้ผู้ส่งออกสินค้าไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ ยังคงได้รับประโยชน์และแต้มต่อจากโครงการนี้ ด้านสหรัฐฯ แจ้งว่า ยังอยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมายต่ออายุโครงการ GSP ต่อรัฐสภาของสหรัฐฯ และอาจมีการปรับเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการคุ้มครองแรงงาน สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม

และการต่อต้านทุจริต ไว้ในโครงการ GSP ที่จะต่ออายุใหม่ นอกจากนี้ ไทยได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาถอดไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Watch List: WL) เนื่องจากในรอบปีที่ผ่านมา ไทยมีพัฒนาการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีและเข้มข้นขึ้น รวมทั้งยังได้จัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งสหรัฐฯ ได้ตระหนักถึงพัฒนาการของไทยเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องการเพิ่มความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศที่สามแอบอ้างใช้แหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐฯ (anti-circumvention) และการปรับปรุงมาตรฐานการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งสหรัฐฯ เห็นถึงความพยายามของไทยในการยกระดับการคุ้มครองแรงงาน ผ่านการปรับปรุงกฎหมายด้านแรงงาน โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำความเข้าใจระหว่างกันต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือน (ม.ค-ก.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ มูลค่า 38,707.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 26,905.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 11,801.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องโทรสาร และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์