เอกชนแห่ใช้สิทธิGSP ส่งออกไปสหรัฐฯ นำโด่ง

04 เม.ย. 2566 | 06:02 น.
อัปเดตล่าสุด :04 เม.ย. 2566 | 06:10 น.

พาณิชย์ เผยสถิติใช้สิทธิ GSP ชี้ส่งออกไปสหรัฐฯใช้สิทธิมากสุด "ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ"แชมป์ใช้สิทธิ์สูงสุด หลังสหรัฐฯ ตอบโต้ด้านภาษีกับจีน

 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงสถิติการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้ง 4 ระบบที่ไทยได้รับอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช เดือน ม.ค.2566 ว่า การใช้สิทธิ์มีมูลค่ารวม 281.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.63%

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 53.56% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 525.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดสหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยที่ใช้สิทธิ์ GSP มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 94% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธิ์ GSP ทั้ง 4 ระบบ

 โดยการใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกแต่ละระบบ มีการใช้สิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่า 264.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 0.83% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 56.42% จากมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 469.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การใช้สิทธิ์ส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่า 15.44 ล้านดอลลร์สหรัฐ ลด 16.90% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 29.08%

เอกชนแห่ใช้สิทธิGSP ส่งออกไปสหรัฐฯ นำโด่ง

จากมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 53.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอร์เวย์ มูลค่า 1.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 22.14% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 54.44% จากมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 2.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช มูลค่า 0.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 66.78% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 18.16% จากมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ์ 1.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนสินค้าสำคัญที่มีการส่งออกโดยใช้สิทธิ์ GSP พบว่า สินค้าที่ใช้สิทธิ์ส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงสุดอันดับ 1 คือ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าการใช้สิทธิ์ 44.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่ม 176.24% โดยสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 1 ของกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ์ GSP จากสหรัฐฯ และคาดว่าไทยจะมีแนวโน้มการใช้สิทธิ์เพื่อส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีการดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าทางด้านภาษีกับจีนอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้าอื่น ๆ ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง เช่น อาหารปรุงแต่ง เลนส์แว่นตาทำจากวัสดุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แก้ว หีบเดินทางขนาดใหญ่ กระเป๋าใส่เสื้อผ้า และถุงมือยาง

เอกชนแห่ใช้สิทธิGSP ส่งออกไปสหรัฐฯ นำโด่ง

ส่วนโครงการ GSP อื่น ๆ มีสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง เช่น ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ (สวิตเซอร์แลนด์) ของที่ใช้บรรจุสินค้ารวมทั้งฝาทำด้วยโพลิเมอร์ของเอทิลีน (สวิตเซอร์แลนด์) สูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูป (นอร์เวย์) อาหารปรุงแต่งอื่น ๆ ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด และข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) เป็นต้น  
         

เอกชนแห่ใช้สิทธิGSP ส่งออกไปสหรัฐฯ นำโด่ง
ทั้งนี้ แม้ว่าโครงการ GSP สหรัฐฯ ได้สิ้นสุดอายุไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563 และขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการดำเนินขั้นตอนการต่ออายุโครงการ ส่งผลให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เคยได้รับสิทธิ์ GSP สหรัฐฯ จะต้องชำระภาษีในอัตราปกติ (MFN rate) ไปจนกว่าโครงการจะได้รับการต่ออายุ แต่เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ ผู้นำเข้าสามารถยื่นขอใช้สิทธิ์ GSP ในการนำเข้าสินค้าได้ตามปกติ โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ จะทำการคืนภาษีเมื่อโครงการได้รับการต่ออายุแล้ว