รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เพื่อใช้เป็นเข็มทิศในการขับเคลื่อนประเทศ โดยนโยบายเร่งด่วนมี 4 เรื่องได้แก่ 1. การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน 2.การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยจะลดราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที
3.ผลักดันการสร้างรายได้จากการเพื่อสร้างรายได้และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท 56 ล้านคน รวม 5.6 แสนล้านบาท และ 4.การจัดทำประชามติเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ส่วนระยะกลาง จะเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ ๆ อาทิ กลุ่มสหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง อินเดีย แอฟริกา อเมริกาใต้ การเร่งการเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) การปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนผ่านบีโอไอ และสำนักงานอีอีอีซีเพื่อดึงดูดการลงทุน เป็นต้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในส่วนของการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ หากปรับขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี ตรงนี้เป็นส่วนที่ภาคเอกชนสนับสนุนอยู่แล้ว ส่วนนโยบายการขึ้นค่าแรง 600 บาท ภายในปี 2570 หอการค้าฯ มองว่าควรเพิ่ม Productivity ของแรงงานควบคู่ไปพร้อมกัน
“ทั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกับรัฐมนตรีแรงงาน คุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ ถึงข้อห่วงใยของภาคเอกชนที่จำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการไตรภาคีในการกำหนดค่าแรงที่เหมาะสมในแต่ละจังหวัด และเห็นว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ควรขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ”
โดยหลังจากนี้จะมีการหารือกำหนดแนวทางความเหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศร่วมกับกระทรวงแรงงานต่อไป ซึ่งในส่วนของการยกระดับ Productivity ของแรงงานไทยตั้งแต่เยาวชน แผนงานที่มีการเจรจา MOU ระหว่าง 4 กระทรวง ทั้ง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ตรงนี้เชื่อว่าจะทำให้การผลิตแรงงานให้ตรงความต้องการของตลาดและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้ต่อไปแน่นอน
ขณะที่นโยบายที่รัฐบาลแถลงส่วนใหฯตรงกับสิ่งที่หอการค้าฯ ได้นำเสนอไว้ โดยเฉพาะระยะสั้นที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
1.ในเรื่องของการแก้หนี้ เห็นด้วยที่จะต้องขยายมาตรการพักหนี้สำหรับผู้ที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และเร่งช่วยให้ SMEs ที่ยังรอดอยู่เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเป็นการต่อยอดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
2.ด้านการท่องเที่ยว ถือเป็นเรื่องเร่งด่วยที่ต้องทำเพื่อให้ปีนี้เศรษฐกิจกลับมาและกระจายรายได้ให้ทั่วถึง โดยตนเพิ่งกลับมาจากประเทศเวียดนามซึ่งเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนมาที่ประเทศเวียดนามจำนวนมาก ดังนั้นไทยต้องเร่งทำเนินมาตราการ ทั้งเพิ่มเที่ยวบิน e-VISA และฟรีวีซ่า ให้เร็วเพื่อจับโอกาสช่วงฤดูท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้ายนี้
3.เรื่องลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ อยากเน้นนโยบายที่ทำได้จริงทันที เพื่องเร่งการลดภาระและต้นทุน เพื่อไม่ให้ส่งไปต่อผู้บริโภค โดยเห็นด้วยที่จะดำเนินการทำทันที
4.สำหรับเรื่องการเปิดตลาดต่างประเทศ ทางหอการค้าฯได้เสนอแผนให้นายกฯ Roadshow คู่กับภาคธุรกิจ ในตลาดเดิมก่อน เพื่อดึงเรื่องการค้า และการลงทุน และใช้ประโยชน์จาก FTA ที่เรามีไว้อยู่แล้วให้มากขึ้น สำหรับตลาดใหม่ยังใช้เวลาและจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของแต่ละประเทศที่ให้เหมาะสม เพื่อจะได้ Strategic Countries ที่เป็นคู่ค้าและคู่ลงทุนร่วมกัน
5.การดึงดูดการลงทุน ทั้งในส่วนของ BOI และ EEC อยากให้รัฐบาลออกมาให้ความมั่นใจ กับความชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร เพราะในส่วนนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมถึงส่งเสริมเรื่อง Ease of Investment
ต่อคำถามที่ว่า จากนโยบายของรัฐบาลข้างต้น รวมถึงนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต มองว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ถึง 5% ในปี 2567 ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลหรือไม่
นายสนั่น กล่าวว่า หากมองพื้นฐานเศรษฐกิจไทยภายใต้การเติบโตตามศักยภาพบวกกับมาตรการหลักๆ อย่างการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ให้กับประชาชนทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ราว 56 ล้านคน ใช้เม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินไว้เบื้องต้นว่าเม็ดเงินทุก ๆ 1.2-1.5 แสนล้านบาท ที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทันที จะช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ 1%
ดังนั้น มาตรการดังกล่าวน่าจะส่งผลต่อการขยายตัวของจีดีพีเพิ่มเติมในปีหน้าได้อีก 2-3% จากการหมุนเวียนเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจทั้งการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics) ไม่รุนแรงไปมากกว่านี้
รวมถึงการขยายตัวของการส่งออกไทยในปีหน้าหากอยู่ในกรอบ 3-5% น่าจะทำให้เศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ที่ 5% ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชน ในการผลักเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่คาดไว้ รวมถึงต้องมีการจัดสรรงบประมาณปี 2567 ให้เหมาะสม ซึ่งหากงบประมาณมีจำกัด ภาคเอกชนก็ยังมองว่าต้องมุ่งช่วยไปยังคนที่จำเป็นและเดือนร้อนก่อน
ต่อกรณีที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติปรับลดราคาพลังงาน ที่สำคัญคือ การปรับลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย(จากเดิม 4.45 บาทต่อหน่วย)มีผลในรอบบิลเดือนกันยายนนี้
ประธานกรรมการหอการค้าไทย ชี้ว่า การพิจารณาและตัดสินใจปรับลดค่าไฟฟ้าลงทันทีเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและลดต้นทุนผู้ประกอบการ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งนี้คงต้องคำนึงถึงภาระทางการคลังของรัฐบาลด้วย ซึ่งในระยะกลางและยาว เอกชนอยากขอให้รัฐบาลดำเนินการยกเครื่องโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้สอดคล้องกับทิศทางความต้องการและรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในราคาที่เหมาะสมและทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้
ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้มีการหารือและแสดงความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งหากพิจารณาจากความสามารถในการแข่งขันของประเทศเทียบกับประเทศข้างเคียงเช่นเวียดนามในมุมของค่าไฟที่อยู่ประมาณ 2.88 บาทต่อหน่วย
“ภาคเอกชนอยากให้มีการพิจารณาจัดตั้ง กรอ.พลังงาน ซึ่งจะมีผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน เข้าไปมีส่วนสะท้อนปัญหาและเสนอทางออกในการปรับปรุงโครงสร้างพลังงานประเทศไปในทิศทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ต่อไป” นายสนั่น กล่าว