นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงได้เชิญผู้บริหาร 8 หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ได้แก่ กรมการขนส่งทาง(ขร.), การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.), บริษัท เอสอาร์ที แอสเสจ จำกัด, บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.), กรมการขนส่งทางบก(ขบ.), บริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด(บวท.) ร่วมประชุมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 โดยได้มอบให้ทุกหน่วยงานไปทบทวน และปรับคำขอเสนองบฯ ให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา
“ตนได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการให้ทันกรอบเวลาที่สำนักงบประมาณกำหนด ซึ่งได้มอบให้ 8 หน่วยงานจัดส่งคำขอเสนองบฯ มายังกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 27 ก.ย.66 เพื่อให้ รมว.คมนาคม และรมช.คมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอสำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ต.ค.66 ต่อไป”
ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ประมาณเดือน เม.ย.67 ส่วนตั้งแต่เดือน ต.ค.66 ซึ่งเดิมจะต้องเริ่มใช้งบประมาณปี 2567 ทางสำนักงบประมาณให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน ส่วนการจัดทำงบประมาณปี 2568 ยังคงให้ยึดตามนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้นอกจากประชุมเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 แล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 เบื้องต้นพบว่า ทุกหน่วยงานสามารถเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ได้ตามเป้าหมาย เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80-90%
“ยังให้แต่ละหน่วยงานรายงานขอบเขตหน้าที่การทำงาน และปัญหาอุปสรรคในการทำงานด้วย อย่างไรก็ตาม รมช.คมนาคม ได้มอบให้ทุกหน่วยงานนำนโยบายของรัฐบาลมาใช้เป็นหลักในการปฏิบัติงาน อาทิ ขบ. ได้สั่งการให้นำระบบดิจิทัลมาใช้ในงานบริการด้านขนส่งเพิ่มมากขึ้น เพื่อความสะดวกในการติดต่อราชการ และลดขั้นตอนในการเดินทางมายังสถานที่ราชการ รวมทั้งให้แก้ปัญหาการให้บริการของรถที่เรียกผ่านแอพพลิเคชั่น และรถในระบบให้มีความสมดุลกัน”
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ยังได้สั่งการให้ บวท. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ เพื่อรองรับเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถาน เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ที่จะเริ่มในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว(ไฮซีซั่น) ประมาณปลายเดือน ก.ย.นี้ ขณะเดียวกันยังได้สั่งการให้ รฟท. เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยนำสินทรัพย์ที่มีอยู่ไปสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะจากข้อมูลพบว่า ที่ดินที่ รฟท. มีอยู่ประเมินแล้วมีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท แต่สามารถนำไปหารายได้ได้เพียงแค่ 3 พันล้านบาท หรือประมาณ 1% เท่านั้น
นอกจากนี้ รฟท. เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขอกู้เงินอีก 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง ปัจจุบัน รฟท. มีหนี้สินอยู่ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท และปี 65 ขาดทุนอยู่ประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาท หลังจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะเดินทางไปยัง 8 หน่วยงานที่อยู่ภายใต้กำกับดูแล เพื่อมอบนโยบาย และลงรายละเอียดในการดำเนินนโยบายเรื่องต่างๆ คาดว่าจะเริ่มที่ รฟท. เป็นหน่วยงานแรก