นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Challenge ความท้าทายประเทศไทย ช่วงโอกาสประเทศไทยบนความท้าทายโลก ว่า วันนี้เราเสียเวลาไป 4 เดือนหรือ 120 วัน กว่าจะได้เริ่มต้นนับ 1 ซึ่งเหมือนกับการหายใจทิ้งในช่วงที่รัฐบาลรักษาการ ซึ่งไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการอนุมัติงบประมาณได้
ขณะเดียวกันโจทย์ใหญ่ของไทยพบว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2 ครั้ง ถือเป็นความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ จากการคาดการณ์ในปี 2566 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.9-4.3% แต่ขณะนี้คาดว่าเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้เพียง 3- 3.1% จากข้อมูลจริงเศรษฐกิจตกต่ำกว่าคาดไว้มาก จากภาคการส่งออกสินค้าที่หดตัวอย่างรุนแรงต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังมีแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยฟื้นตัวดีอย่างน้อย 30 ล้านคน มาช่วยลดความเปราะบางของรายได้ในตลาดแรงงาน
ทั้งนี้การที่เศรษฐกิจหดตัวลงจาก 3.9-4.3% มาอยู่ที่ 3-3.1% นั้นมีผลต่อผู้คนในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้เม็ดเงินในระบบลดลงจากที่คาดว่าหากเศรษฐกิจเติบโตจะมีเม็ดเงินมาหมุนใช้ในระบบเศรษฐกิจ ทำให้การค้าขาย การซื้อสินค้า การเดินทางดีขึ้น จากเม็ดเงินที่มาหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 6.2-6.8 แสนล้านบาท แต่พอเศรษฐกิจขยายตัวได้แค่ 3-3.1% เท่ากับว่าจะมีเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจแค่ 4.8 แสนล้านบาท
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตาม คือ เม็ดเงินหายไปจากระบบมากถึง 2 แสนล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจและภาคธุรกิจหดตัวลง ซึ่งเป็นความท้าทายยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการส่งออกที่หดตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังไม่เติบโต ซึ่งการลงทุนภาครัฐ เป็นสิ่งสำคัญมากในการเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพให้ประชาชน”
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาครัฐได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ โดยมุ่งเน้นภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งที่ลงทุนต่ำที่สุด สามารถคืนทุนได้ไวและได้กำไรมาก เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งที่ตั้งทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมเอื้อต่อภาคการท่องเที่ยวถือเป็นประเทศที่ติดอันดับต้นๆของโลก
“วันนี้ภาครัฐพยายามดำเนินการในเรื่องนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกหลายนโยบาย เพื่อตั้งเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว พบว่าก่อนปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยประมาณ 44 ล้านคน ปัจจุบันภาครัฐพยายามผลักดันให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวใกล้เคียงในช่วงปี 2562 มากที่สุด หากสามารถดำเนินการไปถึงจุดนั้นได้จะทำให้อุปสงค์และอุปทานธุรกิจที่ต่อเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกิดขึ้น”
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ด้านคมนาคมโลจิสติกส์นั้น การนำสินค้าและนักท่องเที่ยวจากต้นทางไปสู่ปลายทางและจากปลายทางสู่ต้นทางให้ได้อย่างปลอดภัยและตรงเวลา ถือเป็นภารกิจที่จะต้องเข้ามาสนับสนุนและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งอุตสาหกรรมด้านการส่งออกในไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ภาครัฐต้องให้ภาคเอกชนมาช่วยขับเคลื่อนในด้านเทคโนโลยีเพื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุด รวมทั้งเพิ่มความรู้และโอกาสในการเข้าถึง ซึ่งรัฐบาลที่มาจากภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่จะมองโครงสร้างพื้นฐานในเชิงเศรษฐศาสตร์เป็นหลักไม่ได้มองด้านความมั่นคงเป็นหลัก เพราะปัจจุบันไทยต้องต่อสู้ด้วยเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดน