สรรพสามิตขีดเส้น 3 ปี คลอดภาษีคาร์บอน ต่อมาตรการ EV ถึงปี 68

21 ก.ย. 2566 | 05:24 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2566 | 07:59 น.

สรรพสามิตขีดเส้น 3 ปี คลอดภาษีคาร์บอน ชี้โจทย์ใหญ่ ผู้ประกอบการจ่ายภาษีในประเทศแล้ว ต้องนำไปใช้ต่างประเทศได้ ลดภาระการส่งออก พร้อมมาตรการอีวีต่อถึงปี 68

นางสาวรัชฎา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวในงานสัมมนา Sharing Session Sustainability Dialogue: Mission to Carbon Neutral จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติ และแรงกดดันทางการค้าการลงทุนที่ทั่วโลกได้ตั้งกฎเกณฑ์โดยคำนึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น เพื่อให้การค้าการลงทุนของไทยขับเคลื่อนไปได้ หากมองกลับมาเรื่องภาษีก็เป็นกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการค้าการลงทุนควบคู่กันไปได้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายว่าเราจะก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ.2050 และมีเป้าหมายต่อไปในการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065 โดยเป้าหมายดังกล่าวทำให้กรมเล็งเห็นว่าการขับเคลื่อนภาษีด้านสิ่งแวดล้อมน่าจะมีบทบาทสำคัญ กรมก็ได้มีการประกาศยุทธศาสตร์ และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าจะเป็นกรม ESG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยภาษีสรรพสามิตเพื่อมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

สำหรับกลไกภาษีคาร์บอนจะช่วยลดภาระการส่งออกของผู้ประกอบการ ขณะนี้โจทย์ระยะสั้นที่ต้องดำเนินการ คือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) หรือกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของอเมริกาที่จะออกมา กรมจึงมีโจทย์ที่อยากตอบได้ทั้งคู่ว่าหากกำหนดภาษีคาร์บอนจะไม่สร้างภาระ และอยากให้ใช้ประโยชน์ได้ หากผู้ประกอบการชำระภาษีในประเทศแล้ว จะต้องนำไปใช้ในต่างประเทศได้

ทั้งนี้ กรมได้หารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงการร่างกฎหมายแล้ว ซึ่งต้องการทำให้สอดคล้องกับการดำเนินการของ CBAM โดย CBAM ให้เวลาอีก 3 ปีที่จะดำเนินการเก็บภาษีจริง หากกลไกภาษีคาร์บอนช่วยได้ กรมต้องทำภาษีคาร์บอนให้เสร็จภายใน 3 ปี

"ปัจจุบันกฎหมายของกรมสรรพสามิตเก็บภาษีได้ที่สินค้าเลย แต่หากมองกระบวนการที่ทางยุโรปกำหนด เขาดูตั้งแต่การจัดหาวัตถุดับ และการขนส่ง การใช้ การทำลายของเสียจะเป็นลำดับถัดไป ฉะนั้น โจทย์ที่จะมาดูจะเน้นที่กระบวนการ ช่วงที่จัดการวัตถุดิบว่าปล่อยคาร์บอนเท่าใด ส่วนนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของกรม ว่าหากจะดึงมาใช้ในการคำนวณการปล่อยคาร์บอน และนำไปเก็บภาษีนั้น กฎหมายภาษีสรรพสามิตยังทำได้หรือไม่ หากยังทำไม่ได้ กฎหมายอื่น เช่น  พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมจะทำให้เราทำได้หรือไม่"

ทั้งนี้ กรมอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดอยู่ว่าหากกรมทำได้เลย ไม่ได้แก้กฎหมายที่สินค้าเป็นตัวหลัก แต่จะผูกโยงการคำนวณภาษีอย่างไร ยังเป็นโจทย์ของกรม หากมีความชัดเจนเราจะแจ้งอีกครั้งว่า สินค้าใดจะเป็นสินค้าที่เก็บคาร์บอนไปแล้วจะไปรวมอยู่ในกระบวนการที่ชดเชยได้

“หลายท่านอาจจะมองว่าเราเป็นกรมที่เก็บภาษีบาป เช่น เหล้า บุหรี่ เป็นต้น แต่หากดูโครงสร้างภาษีจริงจะเห็นว่ารายได้ภีกรม 70% มาจากสินค้าที่มาจากสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น สรรพสามิตจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้ประเทศขับเคลื่อนไปได้ เพราะภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือที่ให้ทุกท่านได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กระบวนการผลิต เพื่อมุ่งสู่อัตราภาษีที่ลดลง ประชาชนก็จะได้ซื้อสินค้าราคาถูกและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม"

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรการภาษีอีวี โดยมีการลดภาษีอากรขาเข้า และให้เงินอุดหนุนสูงสุดถึง 150,000 บาทต่อคัน เพื่อช่วยดึงให้รถอีวีลดลงมา โดยมาตรการดังกล่าวมีการต่ออายุถึงปี 2567-2568 โดยกรมมีการสร้างแรงส่งให้รถอีวีเกิดขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ ยืนยันว่า วิธีการเก็บภาษีสรรพสามิตที่ผ่านมา ไม่ได้โหด เช่น โปรแกรมภาษีความหวานใช้เวลา 8 ปี กว่าที่จะถึงขั้นบันไดลำดับสุดท้าย โดยโปรแกรมที่คิดจะมีระยะยาว เพราะกรมมองว่าอาจจะมีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบ ระหว่างทางกรมก็มีการทบทวนตลอด เช่นเดียวกันกับมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม กรมก็มีการให้เวลาในการกับเปลี่ยน ค่อยเป็นค่อยไปกับภาคเอกชน และค่อยเป็นค่อยไปกับประชาชน