รัฐบาลเศรษฐา เตรียมถกนัดแรกติดตามแผน "ยุทธศาสตร์ชาติ" 20 ปี

21 ก.ย. 2566 | 10:58 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2566 | 11:18 น.

รัฐบาล เตรียมนัดถกติดตามแผน "ยุทธศาสตร์ชาติ" 20 ปี นัดแรกของนายกฯ "เศรษฐา ทวีสิน" ลุ้นมอบนโยบายการทำงาน แผนการขับเคลื่อน พร้อมทั้งข้อสั่งการถึงหน่วยงานต่าง ๆ

นายวันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาตร์ชาติ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เร็ว ๆ นี้ สศช. จะนำเสนอการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้กับรัฐบาลพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 

"สศช. จะรายงานความคืบหน้ายุทธศาสตร์ชาติ ในช่วงที่ผ่านมาให้กับที่ประชุมบอร์ดยุทธศาสตร์ชาตินัดแรกว่า มีผลการขับเคลื่อนอย่างไร และจะรับมอบนโยบายการทำงานในระยะต่อไปจากรัฐบาลด้วยว่ามีเรื่องอะไรที่จะเน้นเป็นพิเศษ ซึ่งเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานยุทธศาสตร์ชาติ จะมีข้อสั่งการถึงหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป"

ปัจจุบันการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (2561-2580) เข้าสู่ในห้วงที่ 2 ในช่วงปี 2566-2570) พบว่ายังมีประเด็นท้าทายที่จะต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) ที่ทำหน้าที่ร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ในการถ่ายระดับและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติผ่านแผนระดับที่ 3

 

รัฐบาลเศรษฐา เตรียมถกนัดแรกติดตามแผน \"ยุทธศาสตร์ชาติ\" 20 ปี

โดยเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานของรัฐที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบ “พุ่งเป้า” เช่น การกำหนดให้ทุกโครงการหรือการดำเนินงานของรัฐต้องส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

ล่าสุด สศช. ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนพฤษภาคม 2566 โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในห้วงที่ 2 ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 โดยต้องเตรียมประเด็นที่มีผลกระทบสูงต่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้บรรลุเป้าหมายโดยรวมและรายหมุดหมายและเป็นประเด็นที่ไม่มีกลไกหลักในการดำเนินงาน เพื่อเตรียมนำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อพิจารณา ต่อไป 

ขณะเดียวกันยังมีอีกเรื่องสำคัญคือ การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGร) โดยคณะอนุกรรมการภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) และกระทรวงการคลัง ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ดำเนินโครงการกรอบการเงิน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นการรวมนโยบายและเครื่องมือทางการเงินของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนากลยุทธ์สู่การบรรลุ SDGs ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น

โดยดำเนินการผ่านการบริหารจัดการความเสี่ยงและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อระดมเงินลงทุนในโครงการสำคัญสำหรับขับเคลื่อน SDGs ของไทยเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและสร้างสภาวะการปรับตัว (Resilience) ที่เข้มแข็งให้กับสังคมไทย