นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประชุมเพื่อ มอบนโยบาย แก่ ทีมประเทศไทยในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ณ โรงแรม St. Regis นิวยอร์ก มีสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้เล่าถึงนโยบายปรัชญาการทำงานของรัฐบาลนี้ ต้องการเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าได้ด้วยการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม ย้ำว่า 7-8 ปีที่ผ่านมาประเทศชาติมีความเห็นต่างในสังคม ภารกิจหลักของรัฐบาลนี้ จึงต้องการเปิดประเทศ สนับสนุนการทำธุรกิจ รวมทั้งรักษาจิตใจของคนในทุกภาคส่วน ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน เยียวยาจิตใจให้อยู่ร่วมกันภายใต้กรอบ ของกฎหมายได้อย่างสันติ
โจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไข
นายกฯ กล่าวว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยต่ำกว่าเพื่อนบ้านถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไข ปัญหาที่สอง คือ มีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาสังคม ยาเสพติด
โดยก่อนเดินทางมาที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้มีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ยึดทรัพย์ เผาทำลาย เจรจาระหว่างประเทศเพื่ออุดพรมแดน ทุกคนต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อความความสมานฉันท์
ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นปัญหาใหญ่ การลงพื้นที่ทำให้รู้ว่าประชาชนเดือดร้อน รัฐบาลจึงตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด โดยได้ออกเป็นมาตรการภายหลังการประชุมครม. ลดราคาน้ำมัน ลดราคาค่าไฟฟ้า
เข้าใจดีว่าควรประเมินปัญหาทั้งหมดแล้วหาทางแก้ แต่ความต้องการของประชาชน ทำให้รัฐบาลรอช้าไม่ได้ อะไรที่พอจะช่วยเหลือได้ รัฐบาลจึงดำเนินการทันที การพักหนี้เกษตรกรจำเป็นต้องทำทันทีเพื่อให้ประชาชนมีแรงทำมาหากิน มีกำลังใจ ไม่ต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินระหว่างที่ตั้งใจทำงาน
“การเปิดตลาดก็เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลนี้มีต้นทุนสูงต้องการตลาดที่มีศักยภาพใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ก็สำคัญ ขอให้ทุกท่านทำงานเชิงรุก Proactive ทั้งทวิภาคี และพหุภาคี สรุปการทำงานเพื่อยกระดับ GDP ยกระดับการลงทุน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ากระทรวงการต่างประเทศไม่ช่วยเหลือ” นายกฯ กล่าวต่อไปว่า นโยบายหลักของรัฐบาลที่สำคัญอีกอย่าง คือการสนับสนุนการพัฒนา Soft power ซึ่งมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ขอให้ทุกคนเดินหน้าช่วยพัฒนา Soft power ให้เผยแพร่ในนานาประเทศ
ทั้งนี้ “ทีมประเทศไทย ” หรือ “ทีมไทยแลนด์” คือ การทำงานเป็นทีมโดยมีเอกอัครราชทูต (ออท.) จากกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้า ร่วมกับข้าราชการจากกระทรวงต่างๆ ที่ส่งตัวแทน มาทำงานในสถานทูตตามประเทศสำคัญๆ ทั่วโลก สำหรับที่กรุงวอชิงตัน ทีมประเทศไทย มีข้าราชการจากหน่วยราชการต่างๆ นอกจากกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงาน ก.พ.
หารือบิ๊กเอกชนสหรัฐ “กูเกิล-ไมโครซอฟท์-เทสลา”
ในวันที่สามของการเยือนสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรียังได้หารือกับ นายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเทสลา (Tesla) ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ และบริษัทเทคโนโลยีอวกาศสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และสตาร์ลิงค์ (Starlink) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายกฯให้คำมั่นว่า ไทยพร้อมร่วมมือพัฒนาโอกาสการลงทุน และยินดีที่จะร่วมมือกับบริษัทอเมริกัน
โดยในโพสต์ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีบนทวิตเตอร์ (X) ระบุว่า ประทับใจที่ได้หารือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันเกี่ยวกับอนาคตของโลกที่สะอาดขึ้น น่าอยู่ขึ้น นอกจากนี้ ยังชื่นชมความก้าวหน้าของนายอีลอน มัสก์ และเทสลา ที่ต้องการทำเพื่อมนุษยชาติ และหวังว่าจะได้หารือกันมากกว่านี้ในอนาคต และหวังจะได้เห็นความสำเร็จที่จะเป็นแรงบันดาลใจต่อไปในความร่วมมือด้านยานยนต์ EV และความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศ อันจะเป็นประโยชน์ ไม่ใช่สำหรับประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาคมโลกทั้งหมด
ข่าวระบุว่า ฝ่ายผู้บริหารเทสลากล่าวชื่นชมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของไทย ซึ่งเหมาะสมกับการลงทุนของบริษัท ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมให้การดูแล สนับสนุนตามกรอบกฎหมาย สิทธิประโยชน์ ด้านการลงทุน
นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ (X) ของนายกฯ ยังโพสต์ถึงการพบปะหารือกับผู้บริหารของ บริษัทกูเกิล และ ไมโครซอฟท์ ซึ่งมีโอกาสความร่วมมือมากขึ้นในธุรกิจคลาวด์ในประเทศไทย ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า คาดหมายจะได้หารือและพบปะกับบริษัทเอกชนของสหรัฐมากขึ้นในการเดินทางมาเยือนสหรัฐอเมริกาอีกครั้งระหว่างการประชุมสุดยอดเขตเศรษฐกิจเอเปกที่สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพในเดือนพ.ย.นี้