นายกฯพบสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ชวนลงทุนไทยยุคเศรษฐกิจใส่ “เกียร์สูง”

21 ก.ย. 2566 | 02:49 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2566 | 03:23 น.

นายกฯ พบสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และหอการค้าสหรัฐฯ ย้ำความเป็นพันธมิตรเกือบ 2 ศตวรรษของทั้งสองประเทศ ซึ่งปีนี้ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต เชิญชวนทุนอเมริกันลงทุนในไทยยุคใส่เกียร์สูง ขับเคลื่อนนโยบาย digital wallet บล็อกเชน ศก.สีเขียว และการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) จัดโดย สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN business Council: USABC) และ หอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ณ โรงแรม St. Regis นครนิวยอร์ก เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ

โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญของวาระโอกาสดังกล่าว ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสำหรับงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ ถือเป็นวาระสำคัญอันหนึ่งของการเยือนต่างประเทศครั้งแรกในครั้งนี้ การเข้าร่วมงานของแขกทุกคนในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ และความสำคัญที่ภาคเอกชนสหรัฐมีต่อประเทศไทย หวังว่างานในวันนี้จะเป็นพื้นฐาน (platform) ในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงประเทศและเศรษฐกิจของไทย-สหรัฐเข้าด้วยกัน โดยทั้งสองฝ่ายถือเป็นหุ้นส่วนธรรมชาติและมีผลประโยชน์ร่วมกัน (natural and mutually-beneficial partners) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ ที่ในปีนี้ฉลองครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐอเมริกา

สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และ หอการค้าสหรัฐฯ จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและคณะ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเชิญชวนบริษัทอเมริกันมาลงทุนในไทย

การค้าระหว่างไทย-สหรัฐ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแม้จะมีการแพร่ระบาดทั่วโลก ด้วยมูลค่ามากกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์ในปีผ่านมา (2565) ทำให้สหรัฐอเมริกากลับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นที่มีอยู่ระหว่างกันอย่างชัดเจน

ในขณะที่ การลงทุนไทย-สหรัฐ ต่างฝ่ายต่างมีการลงทุนเป็นจำนวนมาก นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพอีกมาก และจะเดินหน้าเพิ่มพูนศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขัน และทวงคืนตำแหน่งการจุดหมายปลายทางการลงทุนชั้นนำ การเป็นกลไกการเติบโตในภูมิภาค และเป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถเพลิดเพลินกับคุณภาพการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียมกันอีกครั้ง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงนโยบายสำคัญ และโอกาสมากมายสำหรับบริษัทสหรัฐ ได้แก่  

  1. การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ “เกียร์สูง” (high gear) อาทิ นโยบาย digital wallet และ Blockchain เป็นต้น
  2. การบริโภคที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
  3. การสร้างไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรม ที่ครอบคลุม และบูรณาการสำหรับลูกหลานในอนาคต (ตามแนวคิด 3Is Thailand ได้แก่ Innovative, Inclusive และ Integrated) อาทิ การเปิดตลาดใหม่ เร่งเดินหน้าเจรจา FTA การสร้างกลไกใหม่แห่งการเติบโตแบบครอบคลุม และการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดข้อจำกัด และข้อห่วงกังวล เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนต่างประเทศ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีระบุว่า “ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้มากขึ้น” และย้ำถึงความมุ่งมั่นในการทำให้สังคมไทยดีขึ้น รวมถึงชุมชนธุรกิจในประเทศไทยด้วย โดยประเทศไทยเปิดกว้าง และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้สำหรับห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดภัย หลากหลาย และยืดหยุ่นของสหรัฐฯ และเชื่อมั่นถึงความไว้วางใจ และการสนับสนุนจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ในฐานะตัวแทนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง (key agents of change) เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งร่วมกัน และขับเคลื่อนอนาคตไปสู่ศตวรรษที่ 2 ของการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ที่ใกล้ชิดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

นายกฯพบสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ชวนลงทุนไทยยุคเศรษฐกิจใส่ “เกียร์สูง”

“ถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยให้มากขึ้น”

นอกจากนี้ ในทวิตเตอร์ (X) ส่วนตัวนายกรัฐมนตรี Srettha Thavisin ยังได้ระบุว่า "ในบรรดาแขกผู้มีเกียรติจากแวดวงธุรกิจในงานนี้ ผมได้เน้นย้ำว่า ถึงเวลาที่จะลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้นแล้ว ในฐานะรัฐบาลใหม่ที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนชาวไทย เราให้ความสำคัญสูงสุดกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งลงทุนชั้นนำและกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค รัฐบาลได้เตรียมนโยบายหลายประการเพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับปรุงและยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ การให้บริการรัฐดิจิทัล และกระบวนการและแพ็คเกจสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่คล่องตัวและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากยิ่งขึ้นครับ"

นายกฯ ยังกล่าวด้วยว่า ได้เน้นย้ำตลอดการประชุม UNGA78 ว่า เศรษฐกิจไทยต้องเติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นเต็มที่ที่จะส่งเสริมการเติบโต โดยเร่งดำเนินการตามวาระเศรษฐกิจสีเขียวและการใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 ภายในปี 2608

"ในฐานะอดีตนักธุรกิจ ผมเชื่อมั่นเต็มที่ว่านโยบายทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายชัดเจนของเรา จะขับเคลื่อนการเติบโตและช่วยขยายโอกาสให้แก่ธุรกิจทั้งในประเทศไทย อาเซียน และทั่วโลกครับ" นายกฯเศรษฐา กล่าว