ปัจจุบันพบว่าบริเวณแยกแคราย,เกษตรนวมินทร์ และแยกลำสาลี มีการจราจรติดขัดอย่างต่อเนื่อง หากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) สามารถเกิดขึ้นได้โดยเร็ว สามารถเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทางรวม 22.1 กม. มูลค่าลงทุนรวม 41,720 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,371 ล้านบาท ค่างานก่อสร้างงานโยธา 19,247 ล้านบาท ค่าติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้า 12,442 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา งานติดตั้งและทดสอบงานระบบรถไฟฟ้าฯ 1,159 ล้านบาท ค่า Provisional Sum 1,501 ล้านบาท เบื้องต้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีข้อสั่งการให้นำเสนอโครงการฯต่อกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง หลังจากมีการจังตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่แล้วเสร็จ ปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือนกันยายนนี้
แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนการปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณารายงานฯครั้งที่ 4 ได้ภายในปี 2566 หลังจากนั้นจะเสนอโครงการฯต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปี 2567 และเปิดประมูลได้ปลายปี 2567 พร้อมลงนามสัญญาภายในปลายปี 2568
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเริ่มเวนคืนที่ดินได้ภายในปี 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568-2571 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2571 ขณะเดียวกันจากการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล พบว่า มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของโครงการ (EIRR) 23.48%, NPV 56,662 ล้านบาท, B/C Ratio 2.79 เท่า โดยคาดการณ์ผู้โดยสารปี 2571 ณ ปีเปิดให้บริการ ที่ 222,650 คน-เที่ยวต่อวัน ค่าโดยสาร 14 บาทสูงสุด 42 บาท ราคา ณ ปี 2566
ด้านการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net cost) โดย รัฐเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า ทั้งนี้รัฐจะสนับสนุนทางการเงินค่างานโยธาไม่เกิน19,938 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู โดยเอกชนให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา รวมไปถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาโครงการ 30 ปี
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) มีจำนวนสถานี 20 สถานี ระยะทางรวม 22.1 กิโลเมตร (กม.) โดยเป็นสถานียกระดับทั้งหมด ซึ่งมีอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดของถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าลำสาลี (BR-20) เป็นอาคารสูง 6 ชั้น รองรับการจอดรถยนต์ได้ประมาณ 280 คัน
นอกจากนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล มีโครงสร้างทางวิ่งโครงสร้างทางวิ่งยกระดับสำหรับระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เป็นคานทางวิ่ง (Guideway Beam) โดยจะรองรับทางวิ่งจำนวน 2 ทิศทาง (ไป-กลับ) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail System) ที่มีความจุปานกลาง – มาก ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนสถานีขับเคลื่อนไฟฟ้า (Traction Substation) จะจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง ระดับแรงดัน 750 VDC หรือ 1500 VDC เข้ารางตัวนำไฟฟ้าขั้วบวก และรับไฟฟ้ากลับสถานีขับเคลื่อนรถไฟฟ้า (Traction Substation) ผ่านรางตัวนำไฟฟ้าขั้วลบ โดยมีตำแหน่งการติดตั้งรางตัวนำไฟฟ้าทั้งสองรางอยู่ที่ด้านข้างของคานทางวิ่ง (Guideway Beam) ทั้งนี้ในปีแรกที่เปิดให้บริการจะใช้ขบวนรถไฟฟ้าทั้งสิ้น 24 ขบวน (4 ตู้ต่อขบวน)
ขณะเดียวกันโครงการฯมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูบริเวณแยกแคราย วิ่งไปตามแนวถนนงามวงศ์วานจนถึงแยกบางเขนเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง แล้วข้ามถนนวิภาวดี – รังสิต โดยลอดใต้โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข จนถึงแยกเกษตร ก่อนยกระดับข้ามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อวิ่งต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแยกฉลองรัชเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ยาวไปจนถึงแยกนวมินทร์ ก่อนเลี้ยวลงทางทิศใต้ไปตามแนวถนนนวมินทร์จนถึงแยกสวนสน ซึ่งเป็นสถานีปลายทางที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเหลืองได้ และเป็นที่ตั้งของอาคารจอดแล้วจร และศูนย์ซ่อมบำรุง
อย่างไรก็ตามพื้นที่ในช่วงถนนประเสริฐมนูกิจจะมีการใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกับโครงการทางพิเศษสายเหนือ ตอน N2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยโครงการทางพิเศษฯ จะใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อเดิมที่มีอยู่ ในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ จะมีโครงสร้างเสาตอม่ออยู่ระหว่างเสาตอม่อเดิมของโครงการทางพิเศษฯ โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ จะอยู่ด้านใต้โครงการทางพิเศษ