เศรษฐกิจของประเทศไทย ณ เวลานี้ยังตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน จากปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง โดย ปัจจัยบวก อาทิ ไทยได้รัฐบาลใหม่มาขับเคลื่อนประเทศ ช่วยสร้างเชื่อมั่น ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัว ส่วนปัจจัยลบ ภาคการส่งออกยังติดลบ 10 เดือนต่อเนื่อง งบประมาณรัฐบาลยังมีความล่าช้า หนี้สาธารณะหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง และไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้าหลายเรื่องต้องมีการทบทวน
งนี้ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการวางนโยบายและขับเคลื่อน ผนวกกับความเข้มแข็งของภาคธุรกิจเอกชนมาช่วยกันชี้แนะ และร่วมผลักดันนโยบายต่าง ๆ ให้เป็นจริง เพื่อพลิกทุกวิกฤติให้เป็นโอกาสกับประเทศ โดย “ฐานเศรษฐกิจ”ได้เปิดเวทีสัมมนา Thailand Challenge : ความท้าทายประเทศไทย มีวิทยากรผู้คุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน ร่วมนำเสนอข้อมูลและข้อเสนอแนะไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกฐาพิเศษใจความสำคัญว่า ความท้าทายของประเทศไทยมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ยังหดตัวของปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3 - 3.1% จากเดิมที่คาดจะขายตัวได้ 3.9 - 4.3% ซึ่งมีผลต่อประชาชนในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะเม็ดเงินในระบบจะลดลงจากที่คาดว่าถ้าเศรษฐกิจเติบโตจะมีเม็ดเงินมาหมุนใช้ในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นราว 6.2 - 6.8 แสนล้านบาท แต่พอเศรษฐกิจขยายตัวได้แค่ 3 -3.1% เท่ากับว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแค่ 4.8 แสนล้านบาท
ดังนั้นการลงทุนและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงสำคัญมากในการเข้ามาพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าครองชีพให้ประชาชน ขณะที่ปัญหาใหญ่จากวิกฤตภัยแล้งที่ประมินกันว่าจะเกิดรุนแรงที่สุดในรอบ 41 ปี ในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย เช่น ข้าวนาปรัง และอ้อย มีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งจะกระทบกับรายได้เกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศ
สำหรับปี 2567 รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเร่งขึ้นได้ในระดับ 3.5-4% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน การลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการการลงทุน และการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัว ดังนั้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ผ่านการลดต้นทุนการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่งให้ประสิทธิผลเกิดขึ้นจริงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะมาช่วยเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถให้ประชาชน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และในฐานะนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวในช่วงเสวนา : Thailand Challenge : Opportunity and Position of Thailand ว่า ความท้าทายของประเทศไทยเวลานี้มีหลายเรื่อง ที่สำคัญได้แก่ เศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวและส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทยชะลอตัวตาม จากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ความท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ไปตอบรับในการประชุม COP 26 ว่าในปี ค.ศ.2050 จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) และปี 2065 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero Emissions)
นอกจากนี้มีความท้าทายจากประเทศคู่ค้าจะนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้ เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM ซึ่งจะส่งผลกระทบสินค้าไทยไปอียูจะมีต้นทุนด้านภาษีที่สูงขึ้น ความท้าทายจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics) ของหลายประเทศ และสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ช่วงเกิดสงครามการค้าใหม่ ๆ ไทยได้รับผลในเชิงบวกในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯทดแทนสินค้าจีนได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้มีความท้าทายจากการแข่งขันเรื่องดิจิทัล ไทยจะเข้าไปใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้อย่างไร
ส่วนด้านอาหารที่ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับ 13-15 ของโลก มีความท้าทายในเรื่องอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่เป็นเทรนด์ของโลก เช่น เนื้อจากพืช (Plant-Based Meat) ที่ต้องพัฒนานวัตกรรมในการผลิตให้มีความเหมือนและรสชาติอร่อยเหมือนเนื้อสัตว์จริง ทั้งเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อกุ้ง เนื้อปลา และเนื้ออื่น ๆ จากพืชเพื่อให้ผู้บริโภคหันมารับประทานมากขึ้น รวมถึงอาหารสำหรับคนสูงอายุที่เวลานี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ จาก 20% ของประชากรมีอายุมากกว่า 60 ปี ทำให้มีความต้องการอาหารที่ทานแล้วย่อยง่าย นอนหลับสบาย ขับถ่ายดี และอยากซื้อหามารับประทานอีก ขณะที่ผู้บริโภคอาหารในประเทศพัฒนาแล้วตั้งคำถามก่อนซื้อว่า อาหารนี้มีที่มาอย่างไร ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่
“ที่อยากฝากถึงรัฐบาล เรื่องแรก จะทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง ภายใต้ภาวะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากมายในโลก เรื่องที่สอง ที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่คู่ค้าจะนำเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นประเด็นและมาตรการในเชิงการค้ามากขึ้นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนรับทราบและปรับตัว รวมถึงการเจรจา FTA ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย”
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ความท้าทายของประเทศไทยในปี 2567 สิ่งที่รัฐบาลต้องการคือ ตัวเลขนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน เทียบเท่ากับปี 2562 แต่ต้องการเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 1 ล้านล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจะต้องสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ในระยะสั้นรัฐบาลมาถูกทางในเรื่องของการปลดล็อกวีซ่าต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาง่ายขึ้น
นอกจากนี้ควรจะมีการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มเที่ยวบินและต้องสนับสนุนให้คนไทยเดินทางมากขึ้น เช่น ลดภาษีช่วงปีใหม่ให้คนไทยได้ท่องเที่ยว ถ้าจะให้ดีมาตรการ “เที่ยวด้วยกัน” น่าจะเป็นการกระตุ้นเมืองรอง รวมทั้งการใช้เงินของภาครัฐในการจัดงานสัมมนา การประชุมต่าง ๆ
ส่วนในระยะกลาง ต้องส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก จะต้องบูรณาการหลายกระทรวงและเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ควบคุมการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการธุรกิจที่พักให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย เช่น ทัวร์ศูนย์เหรียญ ถ้านักท่องเที่ยวจีนเข้ามาจำนวนมาก จะมีการควบคุมอย่างไรหรือห้องพักผิดกฎหมาย เช่น ดัดแปลงอพาร์ทเม้นท์เป็นโรงแรม สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายที่รัฐต้องจัดการ
นอกจากนี้การที่รัฐพยายามโปรโมทเรื่องของซอฟท์ พาวเวอร์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะภาพลักษณ์สำคัญมาก ตอนนี้ในประเทศจีนไทยมีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดี การมีการสื่อสารว่าเมืองไทยไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นการประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ
สุดท้ายเรื่องของฟรีวีซ่าจีน-คาซัคสถาน 5 เดือนมองว่าน้อยไป ถ้าจะสามารถปลดล็อกได้ตลอดไปจะดีกว่าและขยายไปอีกหลายประเทศเช่น อินเดีย เพราะตอนนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเองก็พยายามเรียกร้องกันอยู่ หรือหากต้องมีการขอวีซ่าอยู่ก็ควรจะขอได้ง่ายขึ้น
“ความท้าทายของภาคการท่องเที่ยวยังคงมีหลายประเด็น ทั้งรายได้กระจุกตัว แต่ตอนนี้เริ่มเห็นโรงแรมที่มีชื่อเสียง มีมาตรฐานขยายตัวและไปเปิดในเมืองรองมากขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทางสมาคมได้เสนอรับแรงงานต่างชาติที่หลากหลายประเทศมากขึ้นเช่นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ควบคู่ไปกับ การพัฒนาอาชีวศึกษา อุดมศึกษา หรือแม้แต่ปริญญาตรีให้เข้ามาทำงานภาคการท่องเที่ยวภาคการโรงแรมให้ได้ รวมทั้งการเสนอการจ้างงานรายชั่วโมง แก้ปัญหาเที่ยวบินไม่เพียงพอ”
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า ปัจจุบันเราแทบจะแยกเทคโนโลยีดิจิทัลออกจากชีวิตประจำวันไม่ได้ เอกชนหลายแห่งมีการล่าอาณานิคมมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างประโยชน์ บางประเทศเปิดรับเทคโนโลยี บางประเทศบล็อกการใช้เทคโนโลยี ทั้งนี้เทคโนโลยีมีประโยชน์ทั้งในแง่ของอี-คอมเมิร์ซการเจรจาการค้า การพาณิชย์ แต่หนึ่งในปัญหาของการใช้ดิจิทัลทางการค้า ยังมีข้อจำกัดที่ค่อนข้างมาก ทั้งความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม และความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อขาย
ดังนั้นมองว่าไทยเองควรมีแพลตฟอร์มการค้าเป็นของตัวเอง ดีกว่าไปพึ่งพาแพลตฟอร์มของต่างชาติ เพื่อบล็อกการล่าอาณานิคมของเอกชน ทั้งนี้การที่ไทยจะก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาต้องมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์คนทั้งประเทศให้ได้นำเทคโนโลยีมาใช้
“สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัลมี 2 ประเด็นคือ ทำให้คนไทยพร้อมโดยให้ความรู้พื้นที่ฐานกับทุกคน รวมทั้งด้านวิชาชีพ หากวันนี้ไทยไม่ทรานส์ฟอร์มก็จะอยู่กับที่และเป็นทาสของเอกชนที่มีแพลตฟอร์มไปตลอด เขามาเอาข้อมูลจากเราไปเขาได้ ดังนั้นไทยอาจร่วมมือกันดึงแพลตฟอร์มใหญ่เข้ามาแล้วใช้ข้อมูลร่วมกัน อีกประเด็นคือคนไทยควรมีการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นของไทย เพื่อเก็บข้อมูลได้เอง เพราะในบางบริบทเราอาจทำได้ดีกว่า และการที่ไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จะต้องมีวิสัยทัศน์ และมีเทคโนโลยีเอง เพราะไทยไม่สามารถอยู่บนสังคมเกษตรกรรมการผลิตไปได้ตลอด”
นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบัญชีและการเงินบริษัท สบายเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวช่วงเสวนา Thailand Challenge : โลกเปลี่ยน ไทยปรับ ว่า สบายเป็นแพลตฟอร์มที่ทำเพื่อคนไทย เป็นของคนไทย จากจุดเริ่มต้นทำตู้เติมเงิน แต่ตอนนี้กำลังขยับสู่บล็อกเชน ซึ่งบริษัทได้มีการพูดคุยกับบิทคับเพื่อจะไปสู่บล็อกเชนที่จะเป็นระบบแพลตฟอร์มที่จะสร้างให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของบริษัท
“สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากถึงภาครัฐคือ นโยบายหลาย ๆ อย่างที่ทำให้เกิดขึ้นได้จริง อยากให้มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่คนหนึ่งทำไว้ ชุดใหม่เข้ามาก็หยุด ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในไทยค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่าง เรื่องโลจิสติกส์ วันนี้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูงมากในระดับตัวเลข 2 หลัก เทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วมีคอร์สแค่ประมาณ 2-3% หรือน้อยกว่านั้น”
ดังนั้นอยากฝากถึงรัฐบาลในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะธุรกิจในประเทศไทยจะเดินได้ หรือเดินไม่ได้ จะเดินได้ดี หรือไม่ได้ดี เรื่องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่สุด ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวมาไทยเป็นล้าน ๆ คน มาถึงสนามบินแล้วไปไหนต่อ ต้องไปสารพัดจุด ต้องรอแท็กซี่นาน ไม่มีรถไฟฟ้าเชื่อมต่อทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ อย่างไรก็ดีโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันที่รัฐทำไว้ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ถือว่าดีมาก แต่เป็นการขนคนในเมือง ส่วนในแง่ของสินค้ามีรถไฟจากจีน ถึงลาว ถึงกัมพูชา หากเชื่อมต่อประเทศไทยและลงไปข้างล่างได้จะทำให้ไทยกลายเป็นฮับที่ดีที่สุด
ขณะที่ นายเคเค ชอง หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การตลาด การสื่อสาร และการพัฒนาความยั่งยืนบริษัท เดลต้าอีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยผ่านวิกฤตหลายอย่าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง นักวิเคราะห์ต่างชาติมองว่าไทยคงยํ่าแย่และใช้เวลาฟื้นตัวหลายปีแต่ไทยก็สร้างเซอร์ไพรส์เสมอ ด้วยการฟื้นตัวจากวิกฤตเหล่านั้นและแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมนอกจากนี้ ทั้งนี้อยากเห็นคนไทยซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถ เปิดตัวเปิดใจก้าวออกไปสู่โลกกว้าง มีวิสัยทัศน์ระดับโลกมากขึ้น และออกไปแสดงความสามารถให้โลกได้รับรู้
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นเวลานี้เป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทาย จากภูมิทัศน์ทางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปการเผชิญหน้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ทำให้เกิดการแบ่งขั้วชัดเจนด้านซัพพลายเชนโลก ดังที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ ขณะเดียวกันการที่ประชาคมโลกมีมติร่วมกันในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ได้ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตในฐานะผู้(ถลุง)ใช้ทรัพยากรโลก ต้องเผชิญกับมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงภายใต้สหประชาชาติ) เช่น มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป (อียู) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน เป็นต้น
นั่นหมายความว่า อียูกำลังจะนำภาษีคาร์บอนมาใช้ กับการนำเข้าสินค้าเพื่อป้องกันการสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในตลาดอียู ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ ก็มีโอกาสทางธุรกิจตามมาด้วยเช่นกัน เช่น ผู้ที่ปรับตัวให้เข้ากับมาตรการที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ก็จะได้สิทธิประโยชน์ในการส่งสินค้าเข้าตลาดอียูเหนือบริษัทที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3925 วันที่ 24 -27 กันยายน พ.ศ. 2566