ปัญหากรณีคนซื้อรถยนต์มือสอง หรือรถยนต์ใช้แล้ว และเจอกับ “รถสวมซาก” ซึ่งเป็นรถยนต์ที่เคยผ่านการเกิดอุบัติเหตุ แล้วดัดแปลงซ่อมแซมกลับมาขายใหม่ โดยการสวมทะเบียนรถยนต์คันอื่น ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีการออกมาปราบปรามอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ตรวจสอบพบข้อมูลการจับกุมและการดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้ว (เต็นท์รถยนต์) กรณีขายซากรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุหนัก โดยการสวมทะเบียนรถยนต์คันอื่น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิดสภาพและคุณภาพของสินค้า พร้อมแจ้งเตือนผู้ซื้อรถยนต์มือสองตรวจสอบข้อมูลของรถยนต์ให้ถูกต้องตามข้อมูลทางทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก
ล่าสุด สคบ. ได้จัดประชุมหารือแนวทางการแจ้งเตือนภัยผู้บริโภคเกี่ยวกับการซื้อรถยนต์ใช้แล้ว โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมหารือดังกล่าว ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานได้ร่วมหารือแนวทางการบังคับใช้กฎหมายในการป้องกัน ควบคุม การกระทำความผิดของประกอบธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้ว (เต็นท์รถยนต์) โดยมีประเด็นเห็นชอบร่วมกันดังนี้
ปัจจุบันความผิดเกี่ยวกับการขายรถสวมซาก โดยใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ จะต้องใช้แผ่นป้ายทะเบียนที่ออกจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น หากพบการใช้ป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม รวมถึงแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีปลอมมีความผิดตามกฎหมายอาญาเข้าข่ายความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมมีโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท
ก่อนหน้านี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยแจ้งวิธีสังเกตเบื้องต้น เพื่อป้องกันเหตุรถถูกสวมซากแล้วนำมาขายต่อเป็นรถมือสอง โดยแนะนำให้ตรวจสอบสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ (เล่มทะเบียนสีน้ำเงิน) ว่าเป็นเล่มใหม่ ลำดับครอบครองไล่เรียงกัน หรือไม่
พร้อมมีข้อสังเกตว่า หากมีการแจ้งหายและทำเล่มใหม่ อาจต้องระวังเป็นพิเศษ หรือตรวจสอบว่า เป็นรถที่ประมูลมาจากบริษัทประกันภัยหรือไม่ แจ้งย้ายหลายจังหวัด หรือไม่ หรือ ควรซื้อจากคนรู้จัก ถ้าเป็นเต้นท์รถมือสอง ก็ตรวจสอบประวัติ ความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้ซื้อได้มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น โดยมีข้อแนะนำให้ดำเนินการ ดังนี้
1. นำรถไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองพิสูจน์หลักฐานกลาง หรือศูนย์พิสูจน์หลักฐานในส่วนภูมิภาค บริษัท และผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อนั้น
2. หากการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นรถยนต์ที่มีการแก้ไขหมายเลขตัวรถหรือหมายเลขเครื่องยนต์ ควรมอบรถให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดไว้ โดยให้เจ้าหน้าที่ทำบันทึกการตรวจยึดไว้เป็นหลักฐานลงลายละเอียดให้ชัดเจน
3. นำบันทึกการตรวจยึด ไปแจ้งต่อสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ เพื่อระงับการผ่อนชำระค่างวด เมื่อสถาบันการเงินตรวจสอบหลักฐานเป็นข้อยุติแล้วจะต้องคืนเงินในส่วนที่เราผ่อนชำระไปทั้งหมด หรือตามที่เจรจากัน
4. กรณีซื้อเงินสด หรือผ่อนหมดแล้ว ให้ท่านนำหลักฐานการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจยึดรถไปเรียกร้องขอเงินคืนจากผู้ขาย เมื่อชดใช้เงินกันเรียบร้อยแล้ว โดยมอบภาระให้ผู้ขายในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
5. กรณีการเจรจาและไม่เป็นที่ตกลงหรือพอใจของท่าน ท่านสามารถไปร้องเรียนต่อ สคบ. ในเขตที่ท่านซื้อขายรถ ให้เป็นผู้เรียกคู่กรณีมาเจรจา หากยังไม่เป็นที่ตกลงพอใจ สคบ. มีอำนาจหน้าที่ ที่จะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือใช้มาตรการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใดอย่างหนึ่งได้