นางสาวสุมาลี สถิตชัยเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (พิโกไฟแนนซ์) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมและสรุปข้อมูลความคิดเห็นของผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป หลังจากได้เปิดรับฟังทำความคิดเห็นผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป ระหว่างวันที่ 6- 20 ก.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คาดว่า ประกาศปรับปรุงฉบับใหม่จะแล้วเสร็จ ภายในปลายเดือน ต.ค.นี้ หลังจากจากนั้นขั้นตอนต่อไปจะนำเรื่องส่งให้ปลัดกระทรวงคลังพิจารณา และเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ได้ภายในสิ้นปี 2566
สำหรับหลักเกณฑ์สำคัญที่มีการปรับปรุงใหม่ เช่น การแสดงอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมที่ชัดเจน และเป็นธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงยังได้กำหนดหลักเกณฑ์การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินกิจการ หรือให้บริการสินเชื่อภายใน 2 ปีหลังได้รับใบอนุญาต โดยต้องส่งคืนใบอนุญาตกลับภายใน 15 วันทำการ นับตั้งแต่ใบอนุญาตสิ้นผล เพราะถือว่าไม่ได้ตั้งใจประกอบธุรกิจ จากเกณฑ์เดิมไม่ได้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้
นอกจากนี้ ยังกำหนดโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ คือ จดทะเบียนบริษัทโดยมีบุคคลสัญชาติไทย ถือหุ้นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด จากเดิมระบุเพียงว่า เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น และยังกำหนดให้ผู้ถือหุ้นสามารถเปิดบริษัทพิโกไฟแนนซ์ได้เพียง 1 บริษัท ใน 1 จังหวัดเท่านั้น โดยผู้ถือหุ้นรายเดิม ไม่สามารถแยกไปจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ซ้ำซ้อนในจังหวัดเดียวกันได้อีก
รวมทั้งไม่ให้ปล่อยกู้ข้ามจังหวัด เนื่องจากจะเป็นการผูกขาดตลาด ซึ่งอาจทำให้ดอกเบี้ยไม่อยู่ในกรอบที่กำหนดที่ 28-36% ต่อปี และผิดเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ผู้ประกอบธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้แก่ประชาชนรายย่อย
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่า มีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันใช้กลยุทธ์กระจายเปิดบริษัทเพิ่มถึง 4 แห่ง ถือเป็นการผูกขาดตลาด เพราะเป็นผู้เล่นรายเดียวกัน ซึ่งผิดหลักเกณฑ์การใช้สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ที่ต้องการเห็นผู้ประกอบธุรกิจนอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยไม่ได้จำกัดอยู่กับรายใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง พบว่า ผู้ประกอบการไม่ติดใจ หรือมีข้อกังวลต่อเกณฑ์การเพิกถอนใบอนุญาตภายใน 2 ปี แต่กังวลเกณฑ์ไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายเดิมเปิดบริษัทเพิ่ม และต้องปิดบริษัทหากได้เปิดบริษัทเพิ่มไปแล้ว ซึ่งทางหน่วยงานได้ชี้แจงถึงเจตนารมณ์ว่า ต้องการให้คนพื้นที่ปล่อยสินเชื่อกันเอง โดยสศค.จะนำข้อเสนอ และข้อกังวลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาต่อไป
สำหรับวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงหลักเกณฑ์พิโกไฟแนนซ์ครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับการปล่อยสินเชื่อระดับจังหวัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งเสริมธุรกิจให้มีความโปร่งใส โดยหนุนให้พิโกไฟฟแนนซ์เป็นแหล่งทุนของประชาชนที่ขาดโอกาส และขาดศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของไทย
"เดือน มิ.ย.2566 มีผู้ประกอบการได้รับอนุญาตดำเนินธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ จากกระทรวงการคลัง ประมาณ 1,114 ราย จากทั้งหมด 75 จังหวัด เป็นทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"