นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยส่งออกของไทยเดือนส.ค.พลิกกลับมาขยายตัว2.6% ในรอบ 11 เดือน มีมูลค่า 24,279.6 ล้านดอลลาร์หรัฐ หรือ824,938 ล้านบาท เหตุได้แรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะยังอยู่ระดับต่ำกว่าปกติ การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่อง
รวมทั้งการส่งเสริมนโยบายพลังงานสะอาดและความต้องการสินค้าเทคโนโลยี
ทำให้หมวดสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทในระดับที่เหมาะสมส่งผลดีต่อการส่งออก
ประกอบกับตลาดคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวได้ดี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลียซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ โดยการส่งออกของไทยในเดือนนี้ยังทำได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และกลับมาเกินดุลการค้าอีกครั้งส่วนการนำเข้าติดลบ12.8% มูลค่า23,919ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้ดุลการค้า 359.9ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 ติดลบ4.5% มูลค่า187,593ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าติดลบ5.7% มูลค่า195,815ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยยังขาดดุลการค้ามูลค่า7,925ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ถ้าแปลงออกมาเป็นมูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนสิงหาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 824,938 ล้านบาท ติดลบ 4.4% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 822,476 ล้านบาท ติดลบ 18.6%และ ดุลการค้า เกินดุล 2,462 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 6,379,734 ล้านบาท ติดลบ3.9 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 6,732,833 ล้านบาท ติดลบ5.3% ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 353,009 ล้านบาท
โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ 1.5%ต่อเนื่อง 4 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบ 7.6 % ต่อเนื่อง 5 เดือน แต่สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน ขยายตัว4.2% ทั้งนี้ มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ข้าว สิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบ 3.5%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว2.5% กลับมาขยายตัวในรอบ 3 เดือน ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 5.2% ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือนเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 6.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 4.1%
ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการปรับดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลก ประกอบด้วย ตลาดหลัก ขยายตัว 2.3 % โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ21.7% จีน 1.9% และญี่ปุ่น 15.7% แต่ยังหดตัวต่อเนื่องในตลาดอาเซียน (5) 1.5% CLMV 21.3% และสหภาพยุโรป (27) 11.6%
ตลาดรอง ขยายตัว2.4% โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 22.4% แอฟริกา 4.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS 30.4% และสหราชอาณาจักร10.7 % ขณะที่ตลาดเอเชียใต้ ติดลบ0.9% ตะวันออกกลาง ติดลบ12.6% และลาตินอเมริกา ติดลบ11.7%และ ตลาดอื่น ๆ ขยายตัว 62.8% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 53.6%
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า สำหรับภาพรวมตลาดส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น กลับมาบวก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และตลาดส่งออกใหม่ ๆ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป