ภายหลังการประชุมหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital wallet ที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน และมีรายงานว่า รัฐบาลได้เจรจาธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อย่างธนาคารออมสิน ให้ช่วยสนับสนุนงบประมาณในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยมีการกำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีชัดเจนว่าจะเริ่มจัดงบประมาณมาใช้หนี้ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายดิจิทัล เริ่มใช้คืนจนหมดในกรอบระยะเวลาที่ตั้งไว้ ภายใน 3 ปี ก่อนรัฐบาลหมดวาระ
นอกจากนี้ ภายในการประชุมดังกล่าว ยังมีการถกกันถึงเรื่องแหล่งเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ที่จะนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้ามีการขยายเพดานจาก 32% เป็น 45% จริง ก็จะทำให้รัฐมีเงินเพิ่มขึ้น 494,000 ล้านบาทเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการ ซึ่งก็ยังขาดอีกจำนวนหนึ่ง เชื่อว่าน่ารัฐบาลกำลังเร่งหาแนวทางและข้อสรุปให้เร็วที่สุด
ฝากแบงก์รัฐหาเงิน เสี่ยงโดนลด Credit Rating
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ถ้ารัฐบาลใช้เงินนอกงบประมาณกับงบประมาณที่ขอสนับสนุนจากธนาคารออมสิน ต้องดูว่าธนาคารจะนำเงินจากไหนมาสนับสนุนในส่วนนี้ ส่วนตัวมองว่าทำได้หลายทาง เช่น การหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์ดำรงเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ , การกู้ยืมเงินระหว่างสถาบันการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง หรือ การนำเงินคงคลังที่ได้จากการออกสลากออมสิน พันธบัตร และเงินฝากจากประชาชนมาใช้ ซึ่งไม่ว่าจะดำเนินการเช่นไร ธนาคารออมสินต้องไปหารือกับ ธปท. ก่อน
ทั้งนี้ การฝากภาระไว้ที่ธนาคารออมสิน แม้ระบบบัญชีของไทยจะทำได้ ไม่ถูกนับเป็นหนี้ต่อจีดีพี แต่ต่างชาติจะสามารถรับรู้ตัวเลขในส่วนนี้ได้จากการดำเนินบัญชี และถือว่าเป็นหนี้เช่นกัน มีความเสียงสูงที่ Fitch Raing จะลดระดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลง
“ถ้าไปดูฟิตช์ เรตติ้ง ก่อนโควิด19 ระบาด เขามองว่าไทยเรา Good credit มาดโดยตลอดเพราะมีหนี้เฉลี่ยเพียง 40% ต่อ GDP แต่ปัจจุบันหนี้ของไทยกำลังเข้าใกล้ประเทศกำลังพัฒนารายอื่น ๆ จึงถูกมองว่ามีความเสี่ยงอยู่ทุกเมื่อ ก็จะทำให้ในอนาคตถ้าเกิดวิกฤติขึ้น ไทยจะกู้เงินยาก หรือดอกเบี้ยแพงขึ้น เพราะ Country Risk ที่สูงขึ้น”
ออมสินปัด ออกบอนด์นำเงินสนับสนุนเงินดิจิทัล
ภายในการประชุมหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital wallet ได้มีการสอบถามนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ว่ามีสภาพคล่องมากเพียงพอหรือไม่ หากจะรัฐฯจะให้ช่วยนำเงินมาสนับสนุนโครงการเงินดิจิทัล ซึ่งคำตอบที่ได้คือ นายวิทัย ชี้แจงว่า “ธนาคารออมสินมีสภาพคล่องเหลือที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่รับภาระทั้งหมด 560,000 ล้านบาทไม่ไหว ต้องหาแหล่งเงินอื่นมาช่วยเสริมด้วย” ทำให้กลายเป็นประเด็นสำคัญและเป็นการบ้านใหญ่ที่ ธนาคารออมสิน ต้องกลับไปพิจารณา
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสินเพิ่งสำรวจความคิดเห็นนักลงทุน (Survey) ถึงกรณีการการออกบอนด์เพื่อระดมทุนเพิ่มในช่วงต้นปี 2567 ในวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ธนาคาร จะนำเงินส่วนนี้มาสนับสนุนโครงการแจกเงินดิจิทัล แต่ล่าสุด แหล่งข่าวจากธนาคารออมสินยืนยันว่า เป็นแค่เพียงการสำรวจความคิดเห็นนักลงทุนเท่านั้น ยังไม่มีประกาศว่าจะออกบอนด์อย่างจริงจัง ด้านนายวิทัย ยืนยันเช่นกันว่า การออกตราสารหนี้ในช่วงต้นปี 2567 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นการออก Social Bond เป็นการดำเนินงานตามแผนปกติของธนาคารที่ทำเป็นประจำทุกปี ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับการระดมเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องสนับสนุนนโยบายเงินดิจิทัลอย่างแน่นอน
ความน่าเชื่อถือ Fitch Rating ขึ้นอยู่กับฐานะการคลัง
บริษัท Fitch Ratings ประกาศเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมองสถานะประเทศไทยแบบกลาง ๆ แต่ในปี 2567 คาดว่า สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP) จะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ หลังจากการดำเนินนโยบายภาครัฐ แต่น่าจะยังอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (BBB Peers)
ทั้งนี้ ภาระหนี้ของรัฐบาลและฐานะการคลัง มีความสำคัญต่อการพิจารณาเพิ่มอันดับ หรือลดอันดับความน่าเชื่อถือ เพราะ Fitch จะปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย ก็ต่อเมื่อ การลดลงของสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อจีดีพี (General Government Debt to GDP) การลดการขาดดุล ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีศักยภาพในระยะปานกลาง
ส่วนปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ Fitch มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ คือ การไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและส่งผลต่อการเติบโตหรือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
โดยล่าสุดไทยก็ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นแน่นอน สาเหตุสำคัญมาจากรัฐบาลมีการกู้เงินเพื่อมาสมทบ หรือ ปิดงบประมาณในแต่ละปี ในขณะที่รายได้ของรัฐบาลที่มาจากภาษีน้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งรัฐบาลต้องกู้เงิน ทำงบประมาณขาดดุลมายาวนานกว่า 10 ปี นำมาสู่การปรับขยายเพดานก่อหนี้เพิ่มเป็น 70% ต่อจีดีพี
ฐานะการคลังระยะยาวของไทยยังน่าเป็นห่วง
ดร.นณริฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือการนำเงินจำนวน 5.6 แสนล้านบาทมาแจกนั้น จะกระทบสเถียรภาพระยะยาวทางการคลังมากน้อยเพียงใด เบื้องต้นจากการตรวจสอบ คาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 ไทยจะมีหนี้สาธารณะมียอดคงค้างอยู่ที่ 12.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 63.37% ของ GDP และจะเพิ่มขึ้นทะลุ 64.5% ต่อจีดีพีในปี 2570 แม้จะอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดให้ก่อหนี้ได้ไม่เกิน 70% ของ GDP แต่คำถามคือมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ถ้าในช่วง 3 ปีนี้ ประเทศไทยยังไม่ประสบภาวะวิกฤติทั้งจากภายในและภายนอก ก็ถือว่ายังไม่น่าไม่น่ากังวลใจ เพราะหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ณ ขณะนี้มีความใกล้เคียงกับประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศ แต่ถ้าไทยพบกับวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) เหลือน้อยมาก ๆ
“เทียบง่าย ๆ ช่วงก่อนโควิด19 ไทยเรามีหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ราว ๆ 40% กว่า ๆ แต่เมื่อเจอวิกฤติครั้งใหญ่ทำให้ไทยต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อนำมาใช้พยุงเศรษฐกิจ และเพียงแค่กฤติครั้งเดียว ทำให้ไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 60% กว่า ๆ ดังนั้น หนี้สาธารณะจึงควรเป็นตัวเลขที่ต้องทำให้อยู่ในระดับต่ำ ๆ เข้าไว้ เพื่อรองรับวิกฤติ มิเช่นนั้น พื้นที่การคลังของไทยจะน้อยเกินไป”