วันนี้ (5 ตุลาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในเวลา 13.00 น. ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดแรก โดยใช้เวลาการประชุมสั้น ๆ เพียงแค่ 30 นาทีเท่านั้น
โดยภายหลังการประชุม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ โดยระบุเพียงว่า ได้มอบหมายให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ให้ข้อมูลรายละเอียดของนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ทั้งหมด
ขณะที่ นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท นัดแรกครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด เพราะต้องการให้การสื่อสารออกไปอย่างถูกต้อง เพราะนโยบายนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก
โดยในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการทำงานเพื่อผลักดันนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยยังคงเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องผลักดันออกมาให้ได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
นายชัย ระบุรายละเอียดว่า นายกฯ ได้กล่าวเปิดการประชุมว่า ตามที่ได้แถลงนโยบายเติมเงินเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อรัฐสภา ในฐานะนายกฯ และประธานที่ประชุมวันนี้ จะได้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนโครงการให้สำเร็จ
โดยขอให้ทุกคนร่วมกันดำเนินงานอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง ให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินและการคลัง และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะทุกคนในที่นี้มาจากทุกภาคส่วน เป็นผู้ที่ถูกคัดสรรมาแล้วว่าจะเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น ได้ในโครงการนี้
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดคุยในวงกว้าง เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้เห็นว่าจำเป็นต้องทำ ทุกคนในที่นี้เป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ จึงอยากให้มีการเสนอข้อเสนอแนะ นำมาถกกันให้ดี ให้ละเอียด เพื่อหาสรุปในที่ประชุมนี้ให้ได้ อะไรที่ไม่ได้ถก ไม่ได้พูดกัน หรือมีข้อตกลงที่ขัดแย้งกัน ขอให้พูดคุยกันในคณะกรรมการ เพื่อจะหาทางออกที่สมบูรณ์ให้ได้ อย่าให้สาธารณชนมีความสับสน เพราะนโยบายนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล นายกฯ ในฐานะประธานกรรมการมีความตั้งใจ”
ทั้งนี้เมื่อมีข้อสรุปแล้วขอให้คณะกรรมการพิจารณานำไปปรับใช้ให้เหมาะสม เพราะนโยบายนี้จะช่วยสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างมหาศาล ส่วนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องรายละเอียดต่าง ๆ นายกฯ ยินดีรับฟังความคิดเห็น เพราะอยากทำให้นโยบายนี้เกิดขึ้นได้จริง
นายชัย กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือเพื่อให้มีการกำหนดกรอบการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในหลายประเด็น เช่น ขอบเขตโครงการ แหล่งเงินการดำเนินโครงการ ระยะเวลาการดำเนินโครงการ และการจัดการข้อมูลภายใต้โครงการ เป็นต้น
พร้อมกันนี้นายกฯ ยังได้ย้ำว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ รวมทั้งคำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง
อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาเห็นชอบโดยเร็วต่อไป