นายกฯ ถกบอร์ดแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นัดแรก วันนี้

04 ต.ค. 2566 | 20:41 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2566 | 07:12 น.

จับตา นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” เรียกประชุม คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นัดแรก เคาะตั้งอนุกรรมการดันโครงการเร่งด่วน ตามเป้าหมายแจกเงินดิจิทัล 1 กุมภาพันธ์ 2567

วันนี้ (5 ตุลาคม 2566) ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในเวลา 13.00 น. ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดแรก หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อเร่งสรุปการแจกเงินดิจิทัลให้ได้ตามเป้าหมาย ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

ทั้งนี้คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นัดแรกนี้ นายกัฐมนตรี จะเป็นผู้มอบนโยบายการทำงานเพื่อผลักดันนโยบายออกมาให้ได้ตามแผน พร้อมทั้งจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ ขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณารายละเอียดของโครงการทั้งหมด 

โดยจะครอบคลุมการดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้ง กรอบงบประมาณ แหล่งที่มาของงบประมาณ กลไกการดำเนินการต่าง ๆ รวมถึงติดตามและตรวจสอบปัญหาและอุปสรรคของนโยบาย กลไกป้องกันการทุจริต และการสรุปผลสัมฤทธิ์ของโครงการ 

 

นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวก่อนหน้านี้ว่า โดยในการประชุมนัดแรกจะมีการมอบนโยบายจากนายกฯ รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย มีตนเป็นประธาน รวมถึงนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง จะร่วมกันขับเคลื่อนตัวนโยบายต่างๆ

โดยมีหน้าที่รวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบรายละเอียดในทุกมิติที่เป็นคำถามของสังคม และน่าจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดของโครงการได้ภายในเดือนตุลาคม 2566 

สำหรับการผลักดันนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet นั้น ที่ผ่านมา ที่ประชุมครม. ได้เห็นชอบ ในหลักการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน รวม 4 คณะ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ได้แก่ 

  1. คณะกรรมการนโยบายคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet 
  2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ 
  3. คณะทำงานด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ และ 
  4. คณะทำงานด้านบริหารฐานข้อมูลโครงการฯ

 

นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

องค์ประกอบคณะกรรมการ

สำหรับองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ส่วนรองประธาน 4 คน ประกอบด้วย

  • นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์
  • นายปานปรีย์ พหิธานุกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ
  • นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย
  • นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

ขณะที่กรรมการ จะมาจากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญสาขาที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบาย โดยมีรายชื่อดังนี้

  • นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  • นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  • นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
  • นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  • ปลัดกระทรวงมหาดไทย
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
  • เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  • ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
  • เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
  • อัยการสูงสุด
  • ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
  • ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ        
  • ประธานสมาคมธนาคารไทย
  • ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Wallet ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง
  • ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและการคลังที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง
  • ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Blockchain ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง
  • ปลัดกระทรวงการคลัง   กรรมการและเลขานุการร่วม
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรรมการและเลขานุการร่วม
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ช่วยเลขานุการ
  • ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้ช่วยเลขานุการ
  • รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารที่ได้รับมอบหมาย ผู้ช่วยเลขานุการ
  • ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ช่วยเลขานุการ

หน้าที่และอำนาจ

หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีดังนี้

  • กำหนดนโยบายโครงการ วัตถุประสงค์โครงการ แนวทางการดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
  • กำกับ ดูแล ติดตาม และตรวจสอบการดำเนินโครงการ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
  • กำกับ ติดตาม ขับเคลื่อน และเร่งรัดส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ บรรลุผลสำเร็จและเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
  • เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการฯ
  • ติดตามและประเมินผลทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการฯ เพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี
  • รวบรวมและจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่และสร้างการรับรู้ของประชาชน
  • กำหนดแนวทางในการจัดการฐานข้อมูล รวมถึงดำเนินการเก็บรวบรวม ใช้ ประมวลผล และเปิดเผยข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการฯ
  • แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือคณะที่ปรึกษา เพื่อช่วยในการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
  • เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความเห็น รวมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของทางราชการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการ
  • ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย