แจกเงินดิจิทัล เขย่าตลาดบอนด์ไทย ดันต้นทุนกู้พุ่ง

03 ต.ค. 2566 | 09:34 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 09:34 น.

ตลาดบอนด์ไทยป่วน หลังบอนด์ยีลด์พุ่งตามสหรัฐฯ ดันต้นทุนกู้พุ่ง แถมรัฐมีแผนกู้เงินครั้งเดียว 5.6 แสนล้านบาท หวั่นซัพพลายล้นตลาด สภาพคล่องหาย ทุบตลาดตายหมู่ ซ้ำเติมต้นทุนเอกชน แนะเก็บภาษีแจกเงินลดผลกระทบหนี้ภาครัฐพุ่ง

ความกังวลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับสูงเป็นเวลานาน เพื่อสกัดเงินเฟ้อและความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) สหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.622% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายพันธบัตรรัฐฐาลไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับความกังวลจากการขาดดุลการคลังของไทยที่อาจจะสูงขึ้นจากมาตรการรัฐ โดยเฉพาะมาตรการแจกเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาทที่อาจต้องใช้เงินสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ทำให้ภาคทำให้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องกู้เงินและออกพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์) ระยะยาวเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องอุปทานพันธบัตรรัฐบาลที่จะเข้ามาในตลาด

 

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลยังมีความชัดเจนไม่มาก ทั้งการจัดหาแหล่งเงิน รูปแบบมาตรการและระยะเวลาการดำเนินการ รวมทั้งผลต่อเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ซึ่งยอมรับว่า การจัดหาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จะมีส่วนในการพิจารณาของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผล กระทบต่อเครดิตประเทศด้วย

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

“มั่นใจว่ารัฐบาลจะหาทางออกที่ดีที่สุดในการจัดหาแหล่งเงิน และในระยะยาว ยังมั่นใจว่าภาคการคลังมีเสถียรภาพเพียงพอเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ โดยมีระดับหนี้สาธารณะไม่สูงมากและถ้าเศรษฐกิจโตได้ตามศักยภาพ การก่อหนี้ การใช้คืนหนี้ยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับ” นายปิติ กล่าว

แหล่งข่าวจากตลาดเงินตลาดทุนกล่าวตั้งข้อสังเกตุว่า ประเด็นที่ตลาดมีความกังวลคือ แนวทางการกู้หรือออกพันธบัตร ซึ่งสิ่งที่ตลาดสนใจตอนนี้คือ บอนด์ยีลด์มีแนวโน้มสูงขึ้น เห็นได้จากบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุ 10 ปี ดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 4.50% ในส่วนของบอนด์ไทยบอนด์ยีลด์ เพิ่งปรับสูงจาก 2.88% เป็น 3.2% หลังเฟดคงดอกเบี้ยนโยบาย

“ปัญหาของไทยคือ เรากำลังมีนโยบายที่จะทำลายเครดิตประเทศ ทำให้คนไม่กล้าซื้อบอนด์ เพราะถ้ารัฐจะระดมทุนครั้งเดียว 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้เอกชนไม่กล้าออกบอนด์หรือหุ้นกู้ เพราะปกติที่ผ่านมา ปริมาณการออกบอนด์ในตลาดราว 3 แสนล้านบาทใช้เวลาประมาณ 3เดือนกว่าจะขายหมด หากรัฐระดมทุนขนาดนี้ เอกชนก็ตายยกก๊วน ซึ่งเป็นการทำลายตลาดบอนด์ด้วย”

โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์ของไทยที่จะปรับตัวสูงขึ้นไปจนกว่าจะมีแนวทางออก ที่ผ่านมาการขายบอนด์จะยากขึ้นหรือขายไม่หมด จนมีจังหวะออกพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อขายให้กับบุคคลทั่วไปหรือรายย่อยและองค์กรไม่แสวงกำไรในสังกัดของรัฐบาล โดยจ่ายดอกเบี้ย 5% ระยะเวลาไถ่ถอนภายใน 3ปี ขณะที่เอกชนเองจะอิงบอนด์ยีลด์ในการออกหุ้นกู้ด้วย หากบอนด์ยีลด์เพิ่มขึ้น เอกชนก็ต้องมีต้นทุนที่สูงด้วยยังไม่นับกับสภาพคล่องที่หายไปด้วย

งบประมาณย้อนหลัง 10 ปี

สำหรับแหล่งเงินนั้น ส่วนตัวมองหลายแนวทางเช่น ให้ธนาคารออมสินกู้เงิน โดยออกพันธบัตรเพื่อนำเงินไปแจกโดยธนาคารออมสินซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มทุนให้ธนาคารออมสินด้วย หรืออีกแนวทางคือ การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) แม้รัฐบาลจะบอกว่า ไม่ปรับขึ้นแวตในช่วง 4 ปี แต่สามารถปรับแก้กฎหมายได้ เพราะหากทำได้ภายใน 3ปีจะคืนทุน และจะทำให้มีวินัย (discipline) ที่ดีมากด้วย

แหล่งข่าวอีกรายระบุว่า ภายในช่วง 2 เดือนหลังจากมีปัจจัยจากนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการแจกเงินดิอจิทัล ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ของไทยอายุ 10 ปีขยับมาอยู่ที่ระดับ 3.2% หรือเพิ่มขึ้น 0.60% สาเหตุหลักมาจากการปรับขึ้นตามบอนด์ยีลด์ของสหรัฐและความกังวล ต่อความต้องการกู้เงินหรือดึงสภาพคล่องจากภาครัฐ ทำให้ตลาดมีความกังวล โดยเฉพาะปีหน้าคาดว่า จะมีการออกพันธบัตรรัฐบาลประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ซัพพลายที่เพิ่มขึ้นจะมีผล ให้ตลาดบอนด์อ่อนแอ เนื่องจากความต้องการหรือดีมานด์ในตลาดเติบโตไม่ทันซัพพลาย ทำให้บอนด์ยีลด์ทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากรัฐบาลมีการออกบอนด์ในปริมาณมาก ทำให้บอนด์ยีลด์สูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบหุ้นกู้ ซึ่งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามพันธบัตรของรัฐบาล ดังนั้นจึงต้องจับตา 2 ปัจจัย ในระยะเวลา 2-3 วันข้างหน้าคือ

  1. ภาคธนาคารพาณิชย์จะมีการส่งผ่านหรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะหากธนาคารพาณิชย์มีการส่งผ่าน อัตราดอกเบี้ยย่อมมีผลที่จะส่งผ่านต้นทุนกับตลาดหุ้นกู้เช่นกัน
  2. แนวโน้มเครดิตของประเทศ

“ยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีทุนสำรองต่างประเทศที่แข็งแกร่ง และมีระดับหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศอีกทั้งสถานการณ์หนี้ในประเทศไทยก็ไม่ได้มีปัญหา แม้ว่าจะมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงก็ตาม แต่แนวโน้มปีหน้าอัตราการเติบโตของ GDP ที่มีการขยายตัวเพิ่ม ก็จะเป็นโอกาสที่จะทำให้เห็นหนี้ครัวเรือนทยอยปรับลดลงได้”

อย่างไรก็ตาม เรื่องเครดิตประเทศไทยนั้น เป็นเพียงมุมมองของสำนักงานในประเทศเท่านั้น ขณะที่ต่างประเทศ ยังไม่ได้ส่งสัญญาณในในประเด็นนี้ ที่สำคัญในการประเมินเครดิตแต่ละประเทศไม่ได้พิจารณาเฉพาะจากฐานะทางการคลังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะมีการพิจารณาในหลายองค์ประกอบ จึงเชื่อมั่นว่า เครดิตเรตติ้งของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีและน่าเชื่อถือ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,927 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2566