รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ดันสุดพลัง นโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หลังจากเข้ามาบริการราชการแผ่นดินเพียง 1 เดือน ก็เริ่มเห็นนโยบายประกอบขึ้นเป็นรูปเป็นร่างทีละน้อย ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกของเดือนตุลาคม 2566 ก็ไฟเขียวตั้งคณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่ เหมือนเป็นครม.น้อย ๆ เพื่อผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัลให้ทันตามเป้าหมาย 1 กุมภาพันธ์ 2567
ล่าสุดวันที่ 5 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้นัดประชุมครั้งแรก เพื่อจัดทัพวางตำแหน่งขับเคลื่อนนโนบายแจกเงินดิจิทัลออกมา โดยแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ซึ่งมี “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง เป็นประธาน ไปหาข้อสรุปทั้งหมดของโครงการ
แต่ที่น่าสนใจ นอกเหนือไปจากวาระของการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแล้ว การประชุมบอร์ดเงินดิจิทัล 10,000 บาท ครั้งนี้ นายกฯ ยังเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้แนะนำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งข้อห่วงใยต่อโครงการ รายงานกันในวงประชุม
ตอนหนึ่งของช่วงการประชุมคณะกรรมการ นายกฯ แจ้งให้ทุกคนในห้องประชุมรับทราบว่า
“ทุกคนในที่นี้มาจากทุกภาคส่วน เป็นผู้ที่ถูกคัดสรรมาแล้วว่าจะเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นได้ในโครงการนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดคุยในวงกว้าง เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้เห็นว่าจำเป็นต้องทำ ทุกคนในที่นี้เป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ จึงอยากให้มีการเสนอข้อเสนอแนะ นำมาถกกันให้ดี ให้ละเอียด เพื่อหาสรุปในที่ประชุมนี้ให้ได้”
นายกฯ ยังบอกด้วยว่า “อะไรที่ไม่ได้ถก ไม่ได้พูดกัน หรือมีข้อตกลงที่ขัดแย้งกัน ขอให้พูดคุยกันในคณะกรรมการ เพื่อจะหาทางออกที่สมบูรณ์ให้ได้ อย่าให้สาธารณชนมีความสับสน เพราะนโยบายนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล นายกฯ ในฐานะประธานกรรมการมีความตั้งใจ”
พลันนายกฯ พูดจบก็มีหน่วยงานอย่างน้อย 2 หน่วยงาน ที่มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั่นคือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เล่าวินาทีที่ทั้งสองหน่วยงานเสนอรายละเอียดต่อนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมนัดแรก มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ทั้งสองหน่วยงานได้เสนอแนะ และแสดงความกังวลต่อการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังเห็นว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ใช้เงินจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท อาจเกิดผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุน รวมทั้งอาจมีความเสี่ยงต่อการดำเนินนโยบายด้านการคลังของประเทศได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ยังนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนโครงการด้วยว่า การดำเนินโครงการที่ใช้เงินมากขนาดนี้ หากเป็นไปได้เพื่อให้เกิดผลกระทบกับการเงินการคลังน้อยที่สุด รัฐบาลควรทบทวนพิจารณาเงื่อนไข และรายละเอียดของโครงการว่า ถ้าปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินครั้งเดียว หรือก้อนเดียว 10,000 บาท เป็นการทยอยจ่ายให้เท่าที่จำเป็น เช่น ครั้งละ 3,000 บาท จะได้หรือไม่
รวมทั้งการเติมเงินเข้าไปในกระเงินดิจิทัลของประชาชนนั้น จะให้เฉพาะบางกล่มที่ได้รับความเดือดร้อน หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากทางภาครัฐ ได้หรือไม่ เพื่อให้เงินที่ออกไปจำนวนมหาศาลครั้งนี้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด
อย่างไรก็ดี นายกฯ ได้รับทราบข้อเสนอของหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนจะมอบหมายให้ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ในฐานะของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย รับข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และข้อกังวลของทุกฝ่ายเอาไปหารือประกอบในการประชุมคณะอนุกรรมการด้วย
ส่วนข้อสรุปของทางคณะอนุกรรมการ ต้องรวบรวมรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท มาเสนอให้กับทางคณะกรรมการชุดใหญ่ที่นายกฯ เป็นประธานเมื่อใดนั้น นายกฯ ไม่ได้แจ้งระยะเวลาที่ชัดเจน
แต่เชื่อว่าคณะอนุกรรมการชุดนี้จะเร่งทำรายละเอียดมาเสนอโดยเร็วที่สุด โดยนายกฯ ยังคงเป้าหมายเดิม ไม่ได้เปลี่ยนเป้าหมายระยะเวลาว่า นโยบายนี้จะต้องออกมาเร็วกว่าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567
ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ โดยเฉพาะความคืบหน้าของนโยบายนี้ หากมีความชัดเจนมากขึ้น ฐานเศรษฐกิจ จะรวบรวมมานำเสนอต่อไป