ถอดรหัส"วิรไท สันติประภพ" ค้านแจกเงินดิจิทัล นโยบายผิดกระทบคนทั่วประเทศ

06 ต.ค. 2566 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2566 | 02:22 น.

ถอดรหัส "วิรไท สันติประภพ" อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ โพสต์ยกเครดิตนักเศรษฐศาสตร์ลงชื่อคัดค้าน "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" กล้ายืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง ยกคำพูด "อ.ป๋วย" นักเศรษฐศาสตร์หากทำนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตคนทั้งประเทศ

นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เวลานี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดต่าง ๆ นั้น ล่าสุดมีกลุ่มนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากสังคมร่วมลงชื่อคัดค้านนโยบายนี้จำนวนมาก โดย ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหนึ่งในผู้ที่ลงชื่อในแถลงการณ์ดังกล่าวขอให้รัฐบาลทบทวน "นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท" ซึ่งได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Veerathai Santiprabhob เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 พร้อมภาพรายชื่อของนักวิชาการและเหล่าคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ควรยกเครดิตให้กับคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์หลายท่านจากหลายสถาบันมากกว่าครับ ที่กล้ายืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง ร่วมกันนำเสนอขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินผ่านดิจิตัลวอลเล็ต ผมเป็นเพียงคนหนึ่งที่ได้รับแถลงการณ์นี้ และร่วมลงนามด้วยเท่านั้นครับ ไม่ได้เป็นผู้นำทีมแต่อย่างใด เป็นงานของคณาจารย์จากหลากหลายสถาบันครับที่คิดตรงกัน

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ดร.วิรไท ได้เคยโพสต์เฟซบุ๊กว่า การบริหารบ้านเมืองด้วยความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้มีอำนาจรัฐ อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้ทำนองว่า ถ้าแพทย์รักษาผู้ป่วยผิดพลาด อาจจะสร้างผลกระทบให้กับชีวิตของผู้ป่วยหนึ่งคนและครอบครัว

ถ้าวิศวกรสร้างตึก หรือสะพานผิดพลาด อาจจะหมายถึงชีวิตคนหลายสิบหรือหลายร้อยคนที่ใช้งานแต่ถ้านักเศรษฐศาสตร์ทำนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดแล้ว อาจจะกระทบต่อชีวิตของคนหลายสิบล้านคนทั้งประเทศ

วันนี้ ด้วยพลังของตลาดที่รู้ว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แค่ผู้มีอำนาจรัฐเริ่มคิดจะทำนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่รับผิดชอบ ก็ส่งผลเสียต่อชีวิตคนได้ทั้งประเทศแล้ว ผ่านกลไกของตลาดเงินและตลาดทุน

เรามีตัวอย่างนโยบายภาครัฐจากอดีตหลายอันที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ แต่สร้างความบิดเบือนให้กับกลไกตลาด และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ สร้างภาระทางการคลังแบบได้ไม่คุ้มเสีย และส่งผลกระทบต่อผลิตภาพยาวนานไปอีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด หรือโครงการรถคันแรก

ถ้าเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยการทำนโยบายที่หวังผลต่อ GDP แค่ช่วงสั้นๆ ผลที่จะเกิดขึ้นกับฐานเสียงในการเลือกตั้งสี่ปีข้างหน้าอาจจะกลับทิศได้อีกด้วย ถึงเวลาใกล้เลือกตั้งรอบหน้าเศรษฐกิจที่โดนกระตุ้นด้วยยาโด๊บเงินดิจิตัลก็คงหมดพลังลงพอดี นอกจากนี้โครงการภาครัฐดีๆ อีกนับสิบนับร้อยโครงการที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในวันนี้และวันหน้าอาจโดนถูกตัดงบประมาณลง

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่า ประชาชนจำนวนมากต้องการการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป มากกว่านโยบายประชานิยม เชื่อว่า ในอีกสี่ปีข้างหน้า กระแสเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปจะยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก ในขณะที่ทรัพยากรด้านการคลังจะยิ่งจำกัดมากขึ้น

นอกจากนี้ ถ้าผู้มีอำนาจรัฐเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ไม่รับผิดชอบแล้ว ความน่าเชื่อถือจะไหลลงเร็ว ทั้งจากในและต่างประเทศ จะทำอะไรต่อไปก็จะยากไปหมด มีแต่ความไม่เชื่อมั่น ความแคลงใจกัน นโยบายที่จะสนับสนุนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงสำหรับอนาคตของประเทศจะยิ่งเกิดได้ยากมาก

โจทย์ในวันนี้น่าจะเป็นว่า จะช่วยกันหาทางลงให้กับนโยบายที่หาเสียงไว้แล้วแต่ไม่ควรทำได้อย่างไร มากกว่าที่จะเดินหน้าต่อทั้งที่รู้ว่าจะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย