เงินบาทไทยทำสถิติอ่อนค่ามากสุดในรอบ 11 เดือน ล่าสุด (4 ต.ค.) อยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่ามากสุดในภูมิภาค ทั้งนี้เงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และภาคการท่องเที่ยวของไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เงินบาทที่อ่อนค่ามาก แตะ 37 บาทต่อดอลลาร์ในเวลานี้ แม้จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกที่ทำให้ราคาสินค้าไทยถูกลงและแข่งขันได้ดี และได้รับเงินบาทเพิ่มขึ้น แต่อีกด้านคู่ค้าก็จะต่อรองราคาสินค้าไทยให้ลดลงอีก อย่างไรก็ดีเงินบาทอ่อนค่าเวลานี้ไทยคงไม่ได้รับอานิสงส์ส่งออกได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะเศรษฐกิจการค้าโลกชะลอตัว และกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง
ส่วนภาคการท่องเที่ยวได้รับผลดี เพราะต่างชาติเที่ยวไทยสามารถแลกเงินบาทได้เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและจับจ่ายใช้สอยเพิ่ม แต่จากที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงในห้างดังใจกลางกรุงเทพฯ ทำให้ต่างชาติกังวลเรื่องความปลอดภัย ทุกฝ่ายต้องช่วยกันกู้ภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว เพราะเวลานี้เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวแล้ว
อย่างไรก็ดีจากบาทอ่อนค่ามาก อีกด้านกระทบต่อการนำเข้าสินค้า ที่ไทยมีการนำเข้ามากในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง ทั้งนํ้ามัน และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงสินค้าทุน วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งบาทที่อ่อนค่า ส่งผลการนำเข้ามีต้นทุนที่สูงขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกเวลานี้เฉลี่ยสูงกว่า 90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และกำลังเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรป จะส่งผลให้ราคานํ้ามันและก๊าซปรับสูงขึ้นไปอีก กังวลว่าอาจขึ้นไปถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้ค่าไฟฟ้างวดหน้าอาจปรับสูงขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิง
“ที่ผ่านมาเงินบาทผันผวน อ่อนค่าและแข็งค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค น่าจะมีอะไรผิดปกติ ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เรื่องนี้อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันตรวจสอบถึงสาเหตุที่แท้จริง เพื่อหาทางแก้ไข ผู้ส่งออก และผู้นำเข้าไม่ชอบอะไรที่ผันผวนขึ้นลงเร็ว เพราะวางแผนธุรกิจยาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของเงินบาทที่อ่อนค่ามองว่ามาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่สูงมากถึง 5.50% ขณะที่ไทยอยูที่ 2.50% ต่างกันอยู่ 3% ทำให้เงินทุนไหลออกไปหาแหล่งที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า” นายเกรียงไกร กล่าว