(4 ต.ค. 66) นายเศรษพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ กล่าวถึงค่าเงินบาทเมื่อวานที่ผ่านมา (3 ต.ค. 66) ที่อ่อนค่าในระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเรื่องนี้ยอมรับว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 1.ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า 2.ความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน และ 3.ราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยมีความสัมพันธ์กับปัจจัยดังกล่าวอย่างมาก
ซึ่งทาง แบงก์ชาติ ไม่ได้ต้องการให้ค่าเงินมีความผันผวนสูง เพราะจะกระทบกับภาคธุรกิจ แต่ค่าเงินบาทที่อ่อนลงในภาพรวม ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เนื่องจากประเทศไทยยังมีภูมิคุ้มกันในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 และ 2567 นั้นคาดว่าจะเกินดุล จากแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมทั้งระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และหนี้ต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ
ผู้ว่าแบงก์ชาติ กล่าวยืนยันด้วยว่า ทาง แบงก์ชาติ ไม่มีมาตรการ หรือนโยบายที่จะเข้าไปฝืนกลไกตลาด ของค่าเงินบาท โดยเฉพาะการเข้าไปกำหนดระดับของค่าเงิน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครจะมากำหนดได้
โดยไม่ทำแน่นอน ซึ่งหากทำอาจจะเป็นความเสี่ยงมาก แต่จะยังคงติดตาม และพิจารณาความผันผวนที่มาจากปัจจัยพื้นฐาน โดยจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการตัดสินใจในเรื่องของอัตรา ดอกเบี้ยนโยบาย ที่ผ่านมามีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน วิธีการทำงานโดยมีทั้งกรรมการจากภายใน และภายนอก
ทำให้มีอิสระในการตัดสินใจแม้ว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อจะต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง แต่วิธีการไปให้ถึงเป้าหมายเป็นเรื่องของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ส่วนกระแสข่าวว่ารัฐบาลมีความขัดแย้งกับ แบงก์ชาติ ในการกำหนด นโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมานั้น นายเศรษพุฒิ กล่าวว่า ถ้าเป็นในเรื่องความเห็นที่ไม่ตรงกัน ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำงานด้วยกันไม่ได้
พร้อมยืนยันว่าการไปพบ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา การหารือกับนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการพูดคุย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในหลายเรื่อง ในมุมมองด้านเศรษฐกิจ โดยบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี
โดยไม่ได้มีการพูดถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ในฐานะที่ตนเองเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าจะมีการนัดประชุมใน คงจะใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อห่วงใยในการดำเนินมาตรการนี้ในคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย