(12 ต.ค. 66) ที่กระทรวงคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นัดแรก ว่า การประชุมในวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเรื่องของระบบการจ่ายเงิน โดยให้สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ไปออกแบบระบบ เบื้องต้นจะเป็นในรูปของ "บล็อกเชน" (blockchain) ที่จะออกมาเป็นแอปพลิเคชัน ที่รวบรวมทุกอย่างไว้ในจุดเดียวในหลายๆ เรื่อง อาทิข้อมูล ใบขับขี่ หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค
ส่วนเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้เข้าร่วมโครงการจะมีทั้งร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี และนอกระบบฐานภาษี โดยในส่วนร้านค้านอกระบบภาษีนั้น จะให้ทางกระทรวงมหาดไทยเข้ามาเป็นผู้คัดกรอง
ทั้งนี้ผู้ที่จะขึ้นเงินในระบบได้ (แลกเป็นเงินสด) จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ขณะที่ พ่อค้า-แม่ค้า หาบเร่ แผงลอย ที่เข้าร่วมโครงการแต่อยู่นอกฐานระบบภาษีจะไม่สามารถขึ้นเงินได้ แต่สามารถนำเงินไปซื้อวัตถุดิบในร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีได้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะมีระยะเวลาเพียงพอ ให้ประชาชนสามารถนำเงินในระบบไปใช้ได้ต่อ แม้จะผ่านระยะเวลา 6 เดือนไปแล้ว แต่เม็ดเงินยังคงหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นข้อดีของนโยบายนี้
นายจุลพันธ์ ยังเน้นย้ำอีกว่า การดำเนินโครงการนี้จะเป็นไปตามข้อของกฎหมายในทุกด้าน รวมไปถึงการที่ทาง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่อยู่ในระหว่างการตั้งคณะทำงานติดตามการดำเนินโครงการนี้ หากมีการแต่งตั้งแล้วเสร็จ ก็พร้อมที่จะเดินทางไปให้ข้อมูล และความร่วมมือ รวมไปถึงรับฟังข้อเสนอแนะ