รมช.คลัง ยันไม่ขายสมบัติชาติ นำงบมา “แจกเงินดิจิทัล 10000"

11 ก.ย. 2566 | 11:33 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2566 | 11:33 น.

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ยันไม่ขายสมบัติชาติ นำงบมา “แจกเงินดิจิทัล” พร้อมยึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลัง ระบุประชาชนมีสิทธิเลือกใช้จ่ายผ่านโครงการได้ไม่จำกัดร้านค้า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงนโยบายการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ต่อรัฐสภาฯ ว่า นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้กับประชาชนนั้น หลักคิดของโครงการไม่ใช่กระบวนการที่ได้มาซึ่งคะแนนเสียงการเลือกตั้ง แต่เราเห็นว่าภาระเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีหลักคิดสำคัญ คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วทุกภูมิภาค ด้วยกลไกที่ใช้บล็อกเชน สามารถกำหนดกรอบการใช้จ่ายเงินที่อยู่ในกระเป๋าดิจิทัลได้

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายนี้ เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้กับคนไทย เพื่อให้อนาคตมีกระเป๋าเงิน 2 กระเป๋า คือ กระเป๋าเงินสด และกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับประเทศไทยเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่กำลังจะมาถึง

ส่วนแหล่งที่มาของงบประมาณนั้น ยืนยันว่าเรายึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลังเป็นหลัก จะไม่มีการแตะต้องทรัพย์สมบัติของชาติ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนวายุภักษ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือกองทุนประกันสังคมก็ตาม

“กระบวนการที่เราจะทำสุดท้ายจะมีความชัดเจน ขอเวลาไปตรวจรายละเอียด และเดินหน้าโครงการ ทั้งกรอบการใช้เงิน ระยะเวลาการดำเนินการ รวมทั้งระยะเวลาที่เราจะนำเงินมาคืนในระยะเวลาที่กำหนด ยืนยันว่า ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะแน่นอน ไม่เป็นการกู้เพิ่ม เรายึดหลักวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด”

ขณะที่กรอบระยะทาง 4 กิโลเมตร และกรอบระยะเวลาของโครงการดิจิทัล วอลเล็ตนั้น เรียนว่าขณะนี้อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเราจะนำเอาข้อคิดเห็นเหล่านั้นไปพิจารณาในภาพรวม เพื่อหาหนทางที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้เม้ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้แนวทางจะเป็นเช่นไร ยืนยันว่า เม็ดเงินจะถึงมือประชาชนทุกคน

ส่วนกรณีข้อกังวลการเอื้อทุนใหญ่ และอาจส่งผลให้เกิดราคาที่ไม่เป็นธรรมนั้น รัฐบาลไม่ได้มองประชาชนเป็นผู้ร้าย มองว่าประชาชนส่วนมากเมื่อได้เงินไปแล้ว จะจัดสรรการใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์ ซึ่งหลักคิดนี้ผ่านนโยบายมากมายของภาครัฐ และเชื่อว่าประชาชนจะนำไปใช้ในการบริโภคที่เป็นประโยชน์ และใช้ในการบริโภคที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของชุมชน

ทั้งนี้ เม็ดเงินสุดท้ายจะไหลไปที่ทุนใหญ่ เรียนว่าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเว็ตไม่ได้เลือกปฏิบัติว่าสุดท้ายแล้วทุนใหญ่ หรือร้านสะดวกซื้อจะไม่สามารถเข้าโครงการได้ เป็นสิทธิของประชาชนที่จะเลือกใช้ แต่รัฐก็จะจัดทำนโยบายจูงใจให้ประชาชนใช้เม็ดเงินให้เป็นประโยชน์ และขณะนี้ประชาชนมีการรวมกลุ่มเพื่อนำเม็ดเงินไปต่อยอด และสร้างประโยชน์ในชุมชมด้วย