ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ตนเห็นด้วยกับความคิดเห็นของเหล่านักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่ได้แถลงการณ์คัดค้าน โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต
เพราะเชื่อว่าการใช้งบประมาณประเทศมากถึง 5.6 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ จะได้ไม่คุ้มเสีย หวั่นจะส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อในอนาคตเพิ่มขึ้น และหนี้สาธารณะพุ่งสูง
จนกระทบต่อเสถียรภาพการเงิน และการคลังของประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลรับฟังเสียงคัดค้าน ที่ขอให้ยกเลิก เพราะจะได้ไม่คุ้มเสีย
ทั้งนี้หากรู้ก่อนจะร่วมลงชื่อด้วยแล้ว เพราะมีความเห็นในทางเดียวกันนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาทั้งหมดเชื่อว่า ทุกท่านเขียนแถลงการณ์ด้วยความไตร่ตรอง ด้วยความระมัดระวังอย่างมาก ไม่ได้ต้องการที่จะว่าใคร เป็นเพียงเสนอความเห็น
"ไม่ทราบว่าจะมีการลงชื่อคัดค้าน ถ้าทราบก่อนจะร่วมลงชื่อด้วยแล้ว เพราะมีความเห็นในทางเดียวกันนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาทั้งหมด เชื่อว่า ทุกท่านเขียนแถลงการณ์ด้วยความไตร่ตรอง ด้วยความระมัดระวังอย่างมาก ไม่ได้ต้องการที่จะว่าใคร เป็นเพียงเสนอความเห็น เสนอด้วยความรักชาติ รัฐบาลน่าจะรับฟังเสียง ไม่งั้นจะได้ไม่คุ้มเสียเพราะนโยบายจะมีผลต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศชาติ ซึ่งห่วงตรงนี้มากที่สุด" ม.ร.ว ปรีดิยาธร กล่าว
1.เศรษฐกิจไทยกําลังค่อย ๆ ฟื้นตัวตามศักยภาพจากวิกฤตโรคระบาด และเงินเฟ้อในช่วงปี 2562-2565 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าจะขยายตัวประมาณ 2.8% ในปีนี้ และ 4.4% ในปี 2567 จึงไม่มีความจําเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจํานวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพราะที่ผ่านมาการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับการส่งออก นอกจากนี้การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้น
2.เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณนี้ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digitalinfrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป
3.การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจำนวน 560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบันมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยที่ทําให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวทวีคูณทางการคลัง ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงินมีค่าน้อยกว่า 1 ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับตัวทวีคูณของการใช้จ่ายของรัฐโดยตรง
4.เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น
5.ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด และภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลทุกประเทศต่างขาดดุลการคลัง และสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาด และภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมย์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง
6.การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่งเศรษฐีและมหาเศรษฐีที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
7.สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด
8.ระบบ blockchain ปกติจะต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของทุกธุรกรรม โดยผู้ใช้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ข้อดีคือทำให้ไม่สามารถฉ้อฉลข้อมูลได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดตายของระบบด้วย เพราะแต่ละธุรกรรมจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยในการตรวจสอบประมาณ 1-1.5 ชั่วโมงต่อธุรกรรม และจะยิ่งใช้เวลามากขึ้นเมื่อจำนวนธุรกรรมและผู้ใช้เพิ่มขึ้น