แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 มีมติอนุมัติในหลักการสำหรับคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 53 โครงการ วงเงินรวม 146,803.44 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการโดยของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการ สำนักงบประมาณ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่นร. 0709/8 ประกอบความเห็นเพื่อพิจารณา โดยสำนักงบประมาณ มีข้อสังเกตว่าโครงการเงินกู้ที่กรมทางหลวงขออนุมัติตั้งงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วง บางบัวทอง - ลาดหลุมแก้ว วงเงินงบประมาณ 4,300 ล้านบาท เป็นโครงการที่ยังไม่ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566
จึงเห็นควรให้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ประสานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบ ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไปด้วย
ขณะเดียวกัน สำนักงบประมาณ ยังแจ้งด้วยว่า กระทรวงคมนาคม ยังต้องจัดทำแผนการดำเนินการและยืนยันความพร้อมของโครงการต่าง ๆ ทั้ง รายละเอียดแบบรูปรายการ ประมาณการค่าก่อสร้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีสถานที่/พื้นที่ที่ได้รับอนุญาต จากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด การพิจารณาพื้นที่ ดำเนินการไม่กระจุกตัว ประโยชน์ที่กลุ่มเป้าหมายหรือประชาชนจะได้รับอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละ ปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552
อีกทั้งยังต้องจัดส่งรายงานเกี่ยวกับเงินนอกงบประมาณ ตามนัยมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งสำนักงบประมาณจะพิจารณาโครงการตามความจำเป็นและเหมาะสม ตามวงเงินงบประมาณ รายจ่ายประจำปีต่อไป
สำหรับมติครม.เกี่ยวกับคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงคมนาคม จำนวน 53 โครงการ วงเงินรวม 146,803.44 ล้านบาท นั้น กำหนดวงเงินที่จะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2567 จำนวน 24,605.68 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีความพร้อมในการเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 แยกเป็น
กรมทางหลวง เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2567 - 2569 วงเงินรวม 91,643.40 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 42 โครงการ วงเงินรวม 83,957.70 ล้านบาท และแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 4 โครงการ วงเงินรวม 7,685.73 ล้านบาท มีวงเงินที่ขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 18,328.68 ล้านบาท
กรมทางหลวงชนบท เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 3 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2567 - 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้น 4,510 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายให้สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด มีวงเงินที่ขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 902 ล้านบาท
กรมท่าอากาศยาน เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 2 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2567 - 2570 วงเงินรวม 3,100 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น และรองรับเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ มีวงเงินที่ขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 620 ล้านบาท
รฟม. เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 2 รายการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ปี 2566 - 2576 วงเงินรวม 47,550 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ที่เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง มีวงเงินที่ขอตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 4,755 ล้านบาท