“ตอนนี้มองว่าบางทีรัฐบาลก็ทำงานเร็วไปหน่อย พอมานั่งนึกยังไม่ทันครบเดือน รัฐบาลก็ออกแพ็คเกจต่าง ๆ ออกมาเยอะ แต่ก็เป็นสิ่งที่ก็ต้องเร่งทำงาน หลายเรื่องมีความเชื่อมโยงกัน และทั้งหมดถือเป็นเครื่องจักรของการสร้างเศรษฐกิจของประเทศ”
“หมอมิ้ง” หรือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถ่ายทอดแนวทางการผลักดันนโยบายรัฐบาลให้ฟัง หลังจากเปิดตึกไทยคู่ฟ้า พาฐานเศรษฐกิจ และผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล ขึ้นไปสัมภาษณ์พิเศษถึงการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ครบรอบ 1 เดือน
นพ.พรหมินทร์ ยอมรับว่า นโยบายรัฐบาลได้ออกไปเป็นชุดเรียบร้อยแล้ว แต่เราออกน่าจะเร็วไปสักนิด ทั้งเรื่องลดราคาพลังงาน พักหนี้เกษตรกร การท่องเที่ยว และ ซอฟต์พาวเวอร์ แต่อย่างไรก็ดีนโนบายยังไม่จบแค่นี้ โดยขอให้ดูในระยะต่อไปจะมีนโยบายอื่น ๆ ออกมาอีกเป็นระยะ
สำหรับภาพรวมของนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันออกมาอยู่ภายใต้แนวทางหลักนั่นคือ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างโอกาส
เขาเริ่มฉายภาพให้เห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้ตัวเลขสำคัญด้านเศรษฐกิจคือ GDP ร่วงลงไป 7% ก่อนจะไต่ขึ้นมายังไม่เต็มศักยภาพที่แท้จริง เรียกง่ายว่า “ทรุดหนักสุด แต่ฟื้นช้าสุด” โดยสิ่งที่ตั้งข้อสงสัยว่า ณ ปัจจุบันนี้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นจริงหรือไม่
ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน จะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญ และเป็นคำตอบที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างไร นั่นเพราะเมื่อเทียบตัวเลขเมื่อปี 2555 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เคยอยู่ที่ระดับ 70% ไต่ขึ้นมาถึง 90% ในปัจจุบัน
มิหนำซ้ำเมื่อพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ร่วงลงมาจาก 5.02% เมื่อเดือนมกราคม 2566 มาอยู่ที่ 0.30% ในเดือนกันยายน 2566 แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อของคนไทยลดลง แต่ขณะเดียวกันในการดูแลทิศทางด้านนโยบายการเงินก็ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 1.25% จนมาอยู่ที่อัตรา 2.50% ดังนั้นหน้าที่รัฐบาลจึงต้องหาทางทำยังไงให้คนพ้นทุกข์ และรู้สึกดีขึ้น
นั่นจึงเป็นที่มาของนโยบายแรก ๆ ของรัฐบาลคือ “ลดรายจ่าย” โดยเฉดาะด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมันดีเซล โดยปรับลดค่าไฟฟ้างวดล่าสุดเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย
จากนั้นจึงประกาศนโยบาย “พักหนี้เกษตรกร” ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนที่อยู่ส่วนล่างได้หายใจโล่งขึ้น หรือเปรียบกับคนที่กำลังจะจมน้ำ รัฐบาลจะช่วยหาทุนให้คนเล่านี้เกาะเอาไว้ให้ได้ก่อนจะมีกำลังว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้
ต่อมาคือ “สร้างรายได้” ผ่านการท่องเที่ยวก่อนเป็นลำดับแรก ผ่านนโยบายวีซ่าฟรี สำหรับนักท่องเที่ยวประเทศจีน และคาซัคสถาน ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาคอคอด ที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ด้านการท่องเที่ยว
พร้อมทั้ง “สร้างโอกาส” ตั้งแต่การเดินทางไปประชุมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และมีโอกาสพบปะนักธุรกิจชื่อดังของโลก เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ทั้งพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน
นพ.พรหมินทร์ ระบุถึงเรื่องการลงทุนว่า ขณะนี้มีนักลงทุนรายใหญ่ แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย เช่นในรายของ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Amazon ได้ประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ในไทย มากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.9 แสนล้านบาท ในไทย ในช่วง 15 ปีข้างหน้า
ที่ผ่านมาการดึงดูดการลงทุนพบปัญหาอุปสรรคที่กลายเป็นข้อจำกัดในการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา และจะต้องเร่งแก้ไขทันที โดยการแก้ไขปัญหานั้น ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเร่งด่วนให้เตรียมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาปลดล็อกปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เพื่อให้การลงทุนสะดวกมากขึ้น หรือ คณะกรรมการ Ease of Doing Business โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธาน
“คณะกรรมการชุดนี้จะไปร่างกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกให้การลงทุนง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น โดยจะแก้กฎหมาย หรือปลดล็อกข้อจำกัดทางด้านกฎหมายทีละตัวไปเลย โดยอะไรที่ทำมาดีแล้วก็พร้อมต่อยอดและเร่งรัดให้เร็วขึ้น และนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างโอกาสในช่วง 4 ปีนี้จะต้องเร่งให้ทัน”
อีกเรื่องคือการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งแรกไปแล้ว เพื่อปลดเปลื้องและสร้างรายได้จากหนึ่งสมองสองมือของคนไทยที่ซ่อนอยู่ให้มีคุณค่า และสร้างรายได้ให้กับประเทศ
หมอมิ้ง เล่าย้อนไปว่า ในช่วงปี 2544 ช่วงนั้นประเทศไทยเจอปัญหาวิกฤตค่าเงินจนกือบล้มละลาย ถือเป็นความลำบากของคนไทยในช่วงนั้น พอมีรัฐบาลเข้ามาก็เริ่มต้นจากการออกนโยบายพักหนี้เกษตรกร เหมือนตอนนี้ ก่อนจะมีกองทุนหมู่บ้าน เพื่อมีทุนในการทำธุรกิจ กระตุ้นเอสเอ็มอี
ที่สำคัญคือ ดันนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ขึ้นมาให้ชาวบ้านขายผลิตภัณฑ์ในชุมชนได้ ซึ่งถ้าเทียบตอนนี้ก็มีซอฟต์พาวเวอร์ เปลี่ยนจากการมีสินค้าเป็นการให้คนปลดปล่อยศักยภาพให้เป็นรายได้
ไฮไลท์ของนโยบายรัฐบาลนั่นคือ การสร้างโอกาสผ่านเงินดิจิทัล ที่จะจ่ายผ่าน Digital Wallet คนละ 10,000 บาท เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกตัวก่อนว่า รัฐบาลนี้บริหารเงินเป็น และการผลักดันนโยบายเติมเงินดิจิทัล โดยใช้เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท จะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่สำคัญคือ เมื่อทำแล้วจะไม่กระทบต่อเครดิตเรทติ้งของประเทศ
โดยการหารือกันในคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ได้รับการยืนยันว่า เมื่อผลักดันนโยบายออกไปจะไม่กระทบต่อเรทติ้ง ส่วนข้อคิดเห็นต่าง ๆ รัฐบาลก็เคยตั้งคำถามเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เงินว่าจะเป็นอะไรไหม และขยับแบบนี้เป็นอะไรไหม แล้วตั้งคืนเงินอย่างไร ซึ่งถ้าทำได้ก็ไม่มีอะไรน่ากังวล
ทั้งนี้รัฐบาล ยืนยันว่า นโยบายเติมเงินดิจิทัล มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมาก เพราะจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นเพราะเมื่อคนซื้อสินค้า จะช่วยทำให้โรงงานมีกำลังผลิตเพิ่ม ส่งผลต่อการจ้างงาน และสุดท้ายภาครัฐก็เก็บภาษีได้มากขึ้น
“นโยบายเติมเงินดิจิทัล จะช่วยเติมรายได้ที่ขาดหายไป ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการเติบโต เอาไปใช้ดำรงชีวิต เหมือนกับเอาทุ่นไปให้เกาะให้รอดจมน้ำ ให้เขาต่อชีวิตและสร้างชีวิตใหม่ได้ มีต้นทุนทำมาหากิน เช่น ในครัวเรือนเกษตรกรถ้าครอบครัวมี 5 คน จะมีเงิน 5 หมื่นบาท สามารถเอามาใช้ทำเกษตรหนึ่งฤดูกาลเพาะปลูก หรือคนรุ่นใหม่ ถ้ารวมกันบวกกับเงินตัวเองผสมลงไปก็ลงทุนทำสตาร์ทอัพได้ ส่วนใครรวยไม่ใช่ถึงเวลาเงินก็หมดไป”
ส่วนช่องทางการหาเงินมาใส่นั้น ยอมรับว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ เกี่ยวกับแหล่งวงเงินเพื่อนำมาขับเคลื่อนนโยบายเติมเงินดิจิทัล ซึ่งจะมีทางเลือกอยู่ 2-3 ทางเลือก นั่นคือ การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ การใช้เงินภายใต้ มาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง หรือสุดท้ายถ้าไม่พอหรือจำเป็นก็อาจต้องมีการกู้เงิน โดยทางเลือกทั้งหมด คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายที่มี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน จะเป็นผู้สรุป
แต่ทั้งนี้แหล่งวงเงินส่วนแรกที่จะนำมาใช้ นั่นคือ การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ส่วนหนึ่งก็ต้องไปหาทางเกลี่ยงบประมาณบางโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่หากยังไม่จำเป็นก็ต้องเลื่อนออกไป ล่าสุดรัฐบาลสามารถทำได้บางส่วนแล้ว โดยจะให้เลื่อนการจัดซื้อโครงการขนาดใหญ่ลง และจะจัดงบไปเป็นค่าบำรุงรักษาให้แทน
อีกส่วนหนึ่งคือการใช้กลไกตามมาตรา 28 หรือการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจ่ายเงินให้ไปก่อน และรัฐบาลตั้งงบประมาณมาชดเชยให้ ซึ่งรัฐบาลก็เห็นช่องทางนี้สามารถทำได้ แม้ว่าจะมีการขยายเพดานออกไป โดยรัฐบาลเตรียมแผนการคืนเงินอย่างชัดเจนแล้ว เช่น ถ้าใช้เงินไม่เกิน 2-3 แสนล้านบาท ก็ตั้งงบใช้คืนปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท ได้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี
ส่วนแนวทางสุดท้าย คือ การกู้เงินโดยตรง และจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบหนี้สาธารณะต่อจีดีพี เพราะในปีต่อ ๆ ไป จีดีพีจะขยายตัวมากขึ้น จึงมีช่องว่างมากขึ้นตามไปได้ แต่ทุก ๆ ทางเลือกนั้น คณะอนุกรรมการจะหาข้อสรุปถึงทางเลือกต่าง ๆ ที่เหมาะสม หรืออาจใช้ทางเลือกต่าง ๆ ผสมกันได้
อย่างไรก็ตามแผนการทำงาน รวมไปถึงการขับเคลื่อนนโยบายในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร จะสำเร็จ หรือเจอปมปัญหาอะไรหรือไม่นั้น ต้องจับตาดูกันต่อไป