(16 ต.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพัฒนาซูปเปอร์แอป สำหรับใช้ในการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเลต 10,000 บาท ว่า ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการพัฒนาซูปเปอร์แอป ซึ่งผู้พัฒนายืนยันว่าจะทันแจกเงินใน เดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคม 2567 อย่างแน่นอน
ทั้งนี้การเปิดการใช้งานนั้นอาจจะยังไม่ได้เปิดทุกฟังก์ชันพร้อมกันทั้งหมด แต่จะทยอยเปิดตามฟังก์ชันที่เราต้องการใช้งานในเวลาที่เหมาะสมก่อน
อย่างไรก็ตามการลงทะเบียนซุปเปอร์แอปในเดือนพฤศจิกายน 2566 จะเปิดเฉพาะฟังก์ชันที่จำเป็นก่อน เนื่องจากกระบวนการ KYC หรือการยืนยันตัวตน ไม่จำเป็นต้องทำทั้ง 100% เพราะผู้ที่เคยยืนยันตัวตนผ่านระบบเก่าในอดีตไปแล้วประมาณ 40 ล้านคน ไม่จำเป็นต้องมายืนยันตัวตนใหม่
แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนจำเป็นจะต้องลงทะเบียนเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของทาง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ของรัฐบาลที่กระแสสังคมมีทั้งเห็นด้วย และคัดค้านนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้านถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับทุกเรื่อง
โดยทางรัฐบาลพร้อมรับฟัง และนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่ต้องไม่เสียหลักการเดิม และยืนยันว่าจะยังคงเดินหน้าโครงกาา ควบคู่การปรับปรุงรายละเอียดตามข้อเสนอแนะ
อย่างไรก็ตามมองว่าคงไม่ผิดหลักการที่จะใช้เงินส่วนนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยนโยบายนี้ จะเริ่มได้ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้
ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาโจมตี โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท จนถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับนายสมศักดิ์ หรือไม่ ว่า เรื่องนี้ยืนยันไม่ได้เกี่ยวข้องกัน และไม่ได้พูดคุยกัน เพราะปัจจุบันไม่ได้อยู่พรรคเดียวกัน ถือเป็นเรื่องสามัญสำนึกของแต่ละคนที่จะพิจารณา
ส่วนกรณีผลสำรวจนิด้าโพล พบว่าหาก พรรคเพื่อไทย ไม่ทำนโยบายนี้ กระแสความชื่นชอบจะลดลง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองหากคิดนโยบายใดแล้ว ก็ต้องมั่นใจว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากมีการคิดกันอย่างรอบคอบ และไม่ใช่เรื่องคะแนนเสียง แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการนโยบาย