นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการนำเข้าหมูเถื่อน
โดยเมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา นายกฯ ได้มีการเรียกหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร และธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาหารือรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมด้วย
สำหรับกรมศุลกากรนั้น นายกฯ ได้สั่งการให้เข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้ามากขึ้น และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ เพื่อเร่งทำลายหมูที่มีการตรวจจับได้จำนวนมาก เพื่อให้มีข้อยุติ ซึ่งจะต้องได้ว่าจะใช้วิธีการเผาทำลาย แต่อาจจะมีต้นทุนสูง และอาจทำลายได้ครั้งละไม่มาก หรือวิธีการฝังกลบ ก็ต้องการพื้นที่ไม่ให้กระทบต่อชุมชนด้วย ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันราคาหมูในตลาดก็ปรับลดลงแล้ว
ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ธ.ก.ส.ไปดูแลเกษตรกรเลี้ยงหมูรายเล็กและรายกลาง กว่า 1,000 ราย เพื่อจัดสินเชื่อให้เงินทุนเกษตรกรมาตั้งตัวในการเริ่มเลี้ยงหมูรอบใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาราคาหมูตกต่ำ ทำให้เกษตรกรรายย่อยล้มหายตามจากจำนวนมาก
ด้านนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้กรมศุลกากรอำนวยความสะดวกกรมปศุสัตว์ในการนำเนื้อและชิ้นส่วนสุกร (ของกลาง) ในคดีพิเศษที่ 59/2566 จำนวน 161 ตู้ ไปทำลาย และให้กรมศุลกากรปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบหลีกเลี่ยงนำเข้าเนื้อสุกรเข้ามาในราชอาณาจักรเชิงรุก
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กรมศุลกากรได้มีการดำเนินการกับตู้สินค้าประเภทตู้เก็บความเย็นที่อายัดไว้เพิ่มเติมในเขตท่าเรือแหลมฉบัง จำนวน 92 ตู้ โดยได้ทำการเปิดสำรวจเรียบร้อยแล้ว พบเป็น เนื้อและเครื่องในสุกรจากประเทศบราซิล เนเธอแลนด์ และเกาหลีใต้ จำนวน 13 ตู้ น้ำหนักรวม 343,070.23 กิโลกรัม
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ชิ้นส่วนไก่ เนื้อและเครื่องในโคกระบือ จำนวน 79 ตู้ น้ำหนักรวม 2,216,598.81 กิโลกรัม ซึ่งกรมศุลกากรจะดำเนินการประสานกับกรมปศุสัตว์เพื่อส่งมอบและนำไปทำลายตามนโยบายของท่านนายกฯ และรมช.คลังต่อไป