คลังชี้คนไทยติดบริโภคนิยม ออมต่ำ ดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง

20 ต.ค. 2566 | 04:39 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2566 | 07:53 น.

คลังชี้คนไทยออมต่ำ พฤติกรรมใช้จ่ายไม่ระมัดระวัง ดันหนี้ครัวเรือนพุ่ง 90.7% ในไตรมาส 2 ของปี 66 แนะเพิ่มทักษะการเงิน ให้ความรู้ประชาชน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Fis & Fin Forum 2023 ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงเผชิญกับความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ประสบปัญหาทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงและปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ 

การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่างๆ ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ หนึ่งในความท้าทายหลักของไทย คือ การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

ซึ่งจะส่งผลต่อภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ชุมชน หรือครอบครัว ปัญหาดังกล่าวหากขาดการวางแผนที่ดีและการร่วมมือกัน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ที่ทำให้เป็นปัญหาด้านการเงินของครัวเรือนไทยได้ในอนาคต 

แม้ภาครัฐได้พยายามสร้างกลไกการออมเพื่อการชราภาพและการเกษียณอย่างแต่เนื่อง แต่ยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในช่วงบั้นปลาย 

อีกทั้ง รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมที่มีความเป็นบริโภคนิยมมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวังและมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.7% ต่อจีดีพี ณ ไตรมาส 2 ปี 2566 

นอกจากนี้ หลายครัวเรือนมีปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายและขาดวินัยการออม ทำให้มีความเปราะบางทางการเงินสูง

ประกอบกับการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบันได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ยังมีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ และความไม่เข้าใจบริการทางการเงินรูปแบบใหม่อย่างถ่องแท้ ทำให้ไม่สามารถป้องกันตนเองได้

“ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ภาครัฐได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570 เพื่อกำหนดกรอบนโยบายและกลไกการบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะทางการเงินของประเทศไทย โดยมีคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ประกอบด้วยหน่วยงานจากหลายภาคส่วนของประเทศ อาทิ หน่วยงานจากภาคการเงิน ภาคการศึกษา ภาคการพัฒนาสังคม ร่วมกันขับเคลื่อน” 

ซึ่งการพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับประชาชนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกระทรวงการคลังที่สำคัญด้านการสร้างโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

สำหรับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินฯ ครอบคลุมประชาชนไทยทุกช่วงวัย โดยได้ระบุกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับ การพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างเร่งด่วน เนื่องจากความรุนแรงของสภาพปัญหา ได้แก่ กลุ่มผู้มีความเปราะบางทางการเงินสูง ประกอบด้วย ผู้ประสบปัญหาภาวะหนี้รุนแรงและปัญหาความยากจน กลุ่มผู้พิการ กลุ่มประชาชนระดับฐานราก กลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงวัย 

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายคือการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ประกอบกับทรัพยากรของหน่วยงานภาครัฐมีอยู่จำกัด ดังนั้น การกำหนดกลุ่มและพื้นที่เป้าหมายจึงจำเป็นต้องแม่นยำ เพื่อให้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“การพัฒนาทักษะทางการเงินถือเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้คนไทยสามารถบริหารการเงินส่วนบุคคลให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน สามารถตัดสินใจทางการเงินได้อย่างรอบคอบและมีเหตุผล สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการเงินที่เชื่อถือได้ สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับตนเอง และสามารถวางแผนบริหารจัดการการเงินและการออมได้ ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินและความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน”