หลังจากคิกออฟเปิดตัว คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งแรกที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา วานนี้ (25 ต.ค.2566) ที่กระทรวงการต่างประเทศ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ เป็นครั้งแรกระบุว่า ได้เตรียมผลักดัน นโยบายขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีการจัดทำแผน 100 วันแรกว่าจะทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 11 สาขา ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ (ประกอบด้วย อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น ) ก่อนจะเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงกฎหมาย และขอเบิกงบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ ภายใต้แนวทางการการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) คณะกรรมการชุดนี้จะมีการจัดประชุมกันทุกเดือน คณะอนุกรรมการแต่ละคณะได้เสนอแผนการดำเนินการ ซึ่งแบ่งเป็นระยะ คือแผนเร่งด่วนภายใน 100 วัน , แผนภายใน 6 เดือน และภายใน 1 ปี เพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เป็นที่รู้จักและสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น การประชุมครั้งต่อไป กำหนดมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566
“วันนี้การประชุมเน้นไปที่แผน 100 วันแรก และได้ตั้งคณะอนุกรรมการสำหรับ 11 สาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ก่อนจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงกฎหมายและขอเบิกงบประมาณต่อไป นอกจากนี้ จะเริ่มการลงทะเบียนอบรมทักษะผ่านกองทุนหมู่บ้าน คาดว่าจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้หลังเดือนมกราคม 2567 และหลังจากนี้ไป คณะกรรมการจะนัดประชุมกันทุกเดือน” น.ส.แพทองธารกล่าว และว่า
ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดัน พ.ร.บ.Thailand Creative Content Agency หรือ พ.ร.บ.THACCA และจัดตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการจัดการประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ ในการจัดงาน Soft Power Forum เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย
นอกจากนี้ ยังจะมีการผนึกกำลังกับ กทม. จัดกิจกรรม Winter Festival ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาทจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางมาท่องเที่ยวไทย 25-30 ล้านคน ภายในไตรมาส 4/2566 นี้
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งร่วมการแถลงข่าวครั้งนี้ ระบุว่า ซอฟต์พาวเวอร์เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง เป็นพลังหรืออำนาจที่ไม่ได้มาจากกฎระเบียบ ภาครัฐไม่ได้มีซอฟต์พาวเวอร์มาก เพียงแต่เอาฮาร์ดพาวเวอร์ที่รัฐมีไปช่วยให้ซอฟต์พาวเวอร์ให้มีพลัง เช่น ย่านทรงวาด ที่พัฒนาเป็นหนึ่งใน 40 ย่านที่ cool ที่สุดของโลก ซึ่ง กทม. ทำแค่การจัดการขยะให้ดีและป้องกันน้ำท่วม ส่งเสริมให้ซอฟต์พาวเวอร์ของเอกชนในพื้นที่เกิดขึ้นได้
สำหรับเทศกาล Winter Festival มีแนวคิดว่า ไทยควรมีเทศกาลระดับโลกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวช่วงปลายปี โดยจะยกระดับเทศกาลลอยกระทง และเริ่มจัดจากช่วงนั้นไล่ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ
ก่อนหน้านี้ กทม. ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประกาศเปิดตัวเทศกาล “Colorful Bangkok Winter Festival” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวผ่าน "ซอฟต์พาวเวอร์" ของไทย ประกอบด้วย 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่
นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการ กล่าวว่า คณะกรรมการฯเห็นว่า วัฒนธรรมเป็นสินทรัพย์ที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้ พร้อมเน้นย้ำว่า THACCA จะไม่ใช่เพียงหน่วยงานส่งเสริมวัฒนธรรม แต่จะต้องศึกษาวิจัยให้รู้ว่า โลกมองเราอย่างไร และตัวเราเองมองตัวเราอย่างไร เพื่อนำมาสังเคราะห์ให้เกิดบริการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
ยกตัวอย่างกรณีที่ค่ายเพลงระดับโลกมีกลุ่มนักจิตวิทยาและกลุ่มนักสังคมวิทยา ในการศึกษาควรจะทำเพลงด้วยกรอบเนื้อหาใด เพื่อให้นักประพันธ์เขียนเพลง นอกจากนี้ ยังได้ยกตัวอย่างองค์กร Korea Creative Content Agency (KOCCA) ซึ่งมีการประสานงานกันตลอด โดยก่อน KOCCA จะลงทุนเป็นจำนวนมาก เขาศึกษาว่าคนชาติอื่นรับรู้สิ่งที่เรียกว่าความบันเทิงอย่างไร หรือเวลาพูดถึงอาหารไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์เกษตรไทยทั้งประเทศ แต่ THACCA จะส่งเสริมการก่อให้เกิดการรับรู้รสชาติและความรู้สึกต่ออาหารไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าของวัฒนธรรมไทย
“THACCA จะมี Food and Sensory Lab ที่จะช่วยพิสูจน์ว่าอาหารของท่านไม่มีพิษ รวมถึงทดสอบความรู้สึกที่จะรู้สึกได้ด้วยตา จมูก ปาก ว่ามีคุณภาพอย่างไร ดังนั้น เวลาจะลงทุน THACCA จึงช่วยลดความเสี่ยงผ่านการทดสอบให้” ที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติกล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการ กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยจะต้องผลักดัน One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวก อาทิ การให้กองถ่ายต่างชาติถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย หรือการยื่นขอจัดงานเทศกาลต่าง ๆ โดยจะให้สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นหน่วยงานหลัก เพื่อร่างและเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการ 100 วันแรกจะเปรียบเสมือนการคิกออฟการขับเคลื่อนการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 สาขา เช่น จะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนรายละเอียดพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์และเกม โดยจะมีการปรับให้เป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมมากกว่าควบคุม นอกจากนี้ หลายหน่วยงานยังสามารถเริ่มกิจกรรมการฝึกอบรมได้เลย(ใน 100 วันแรก) เช่น ในสาขาอาหาร ก็จะเริ่มอบรม 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย เรื่องของอุตสาหกรรมแฟชั่น ก็จะมีการจัดทำคอร์สออนไลน์ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเรียนสมัครเรียนได้ เป็นต้น