เบื้องลึก สำนักงบ หัก สธ. ตัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ 5.5 พันล้าน

26 ต.ค. 2566 | 22:01 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2566 | 03:12 น.

เบื้องลึก สำนักงบประมาณ หลังตัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กว่า 5,590 ล้านบาท ส่งผลกระทรวงสาธารณสุข ขอถอนเรื่องออกจากครม.ด่วน ขอไปเคลียร์ใหม่ หวั่นงบไม่พอทำนโยบาย รัฐบาล 30 บาทรักษาทุกโรค พลัส

จากกรณีของ กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอถอนวาระการเสนอขออนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เพื่อไปหารือกับสำนักงบประมาณ ให้ได้ข้อสรุป หลังจากวงเงินที่เสนอเข้ามาจำนวน 223,615.51 ล้านบาท ถูกตัดไปกว่า 5,590 ล้านบาท 

โดยเฉพาะวงเงินงบประมาณของ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 221,528.95 ล้านบาท ซึ่งถูกสำนักงบประมาณ ตัดงบประมาณลง เหลือเพียง 215,938.06 ล้านบาท

จนทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกรงว่า จะกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในปี 2567 หลังจากประกาศนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค พลัส ซึ่งมีบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายเรื่อง

 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ฐานเศรษฐกิจ ได้ตรวจสอบข้อมูลเหตุผลความจำเป็นพบว่า สำนักงบประมาณ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร.0712/30 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อแจ้งรายละเอียดเรื่องการขออนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเห็นควรให้ครม.พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยที่สำนักงบประมาณยืนยันอนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนฯ เพียง 215,938 ล้านบาท

ทั้งนี้แม้วงเงินงบประมาณดังกล่าว จะถูกตัดลงประมาณ 5,590 ล้านบาท แต่หากพิจารณาจากคำขอเสนอตั้งงบประมาณแล้วก็ยังคงมีวงเงินที่เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งได้รับการจัดสรรจำนวน 204,140.03 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.78%

ส่วนงบประมาณบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เสนอวงเงิน 2,086.55 ล้านบาท นั้น เห็นสมควรที่ครม. จะมอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัดและสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

สำนักงบประมาณ ยังแจ้งต่อที่ประชุมครม.ด้วยว่า ขอให้ ครม. มอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ 

ทั้งในด้านบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี บริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน บริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว และควบคุมดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้บริหารกองทุนเป็นไปตามการมอบหมายด้วย

 

เบื้องลึก สำนักงบ หัก สธ. ตัดงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ 5.5 พันล้าน

สำนักงบประมาณ รายงานด้วยว่า เนื่องจากปริมาณการใช้บริการและอัตราค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ผู้ป่วยของกองทุน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ค่าบริการ สาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน และค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป 

จึงเห็นสมควรที่กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วน และให้ความสำคัญกับความพร้อม และศักยภาพของผู้ให้บริการสาธารณสุขจัดให้มีบริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และมีการติดตามประเมินผล ตามตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลลัพธ์การให้บริการสาธารณสุข เพื่อให้มีความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายงบประมาณ อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ 

รวมถึงเพื่อสร้างหลักประกัน สุขภาพแห่งชาติให้กับประชาชนในท้องถิ่น และเห็นสมควรที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นจะพิจารณาให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นโดยเร่งด่วน 

พร้อมทั้งให้ สปสช. บริหารจัดการและตรวจสอบการใช้จ่าย งบประมาณค่ารักษาพยาบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 หากมีงบประมาณเหลือจ่ายจากการดำเนินงาน หรือมีรายได้สูงกว่ารายจ่ายสะสม ก็เห็นสมควรให้นำเงินดังกล่าวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาสมทบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นลำดับแรก 

ทั้งนี้ ขอให้ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนัยมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2555 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติครม. หนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐาน ของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ